การขับถ่ายเป็นเรื่องปรกติของคนเราทุกคน แต่คุณรู้มั้ยคะว่าการขับถ่ายนั้นส่งผลดีต่อร่างกายหลายประการ เช่น ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลายและสบายตัวหลังถ่ายหนัก นอกจากนี้แล้วลักษณะของอุจจาระไม่ว่าจะเป็นขนาด รูปร่าง สี และกลิ่นยังช่วยบ่งบอกสุขภาพของคุณในขณะนั้นอีกด้วย อยากรู้แล้วใช่มั้ยคะว่าเราจะรู้ได้อย่างไร อ่านต่อกันได้เลยค่ะ
ทำไมหลังจากขับถ่ายเสร็จแล้วเราจึงรู้สึกดี และสบายเนื้อ สบายตัว?
จากการอ้างอิงข้อมูลในหนังสือ “What’s Your Poo Telling You” ที่เขียนโดย Dr. Anish Shelth และ Josh Richman กล่าวว่าความรู้สึกดี หลังการขับถ่ายเรียกว่า “poo-phoria” ซึ่งจะเกิดขึ้นในขณะที่เราขับถ่าย โดยจะไปกระตุ้นเส้นประสาท เวกัส (Vagus Nerve) ที่เชื่อมจากลำไส้ใหญ่ไปสู่ก้านสมอง รวมถึงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายอย่างระบบย่อยอาหาร อัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต สังเกตได้ว่าบางครั้งที่เราปวดท้องเข้าห้องน้ำจะเกิดอาการขนลุก เหงื่อออก และกระวนกระวาย บางคนถึงกับรู้สึกวิงเวียน และจะรู้สึกผ่อนคลายเมื่อได้ขับถ่ายในปริมาณมาก ๆ ซึ่งนั่นก็คงเป็นที่มาของคำว่า “ปลดทุกข์”ก็ว่าได้
อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอย่าเพิ่งผลีผลามไปหาอะไรทานเยอะ ๆ เผื่อที่จะได้สัมผัสความรู้สึกดีหลังปลดทุกข์กันนะคะ เผลอ ๆ อาจจะทุกข์หนักกวาเดิมเพราะเมื่อระบบขับถ่ายทำงานหนักจนเกินไป และไปกระตุ้นเส้นประสาทเวกัสมากจนเกินไป อาจจะทำให้ความดันโลหิตต่ำและทำให้เป็นลมหน้ามืดในห้องน้ำได้ค่ะ
สีของอุจจาระที่สุขภาพดีควรเป็นสีอะไร?
หลาย ๆ คนอาจจะไม่เคยก้มมองอุจจาระของตัวเองสักครั้ง เข้าห้องน้ำแล้วก็กดชักโครกให้มันจบ ๆ ไป แต่รู้หรือไม่ว่า สีของอุจจาระนั้นสามารถบอกได้ว่าตอนนี้สุขภาพของเราเป็นอย่างไรค่ะ
- สีเหลือง เป็นสีปกติ แต่ถ้าหากสังเกตว่ามีความมันและมีกลิ่น อาจเกิดจากไขมันส่วนเกิน เป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่ามีความผิดปรกติของระบบดูดซึมอาหารหรือย่อยอาหาร หรือหากมีสีเหลืองค่อนไปทางน้ำตาล อาจจะเกิดจากน้ำดีในตับที่หลั่งออกมาในการย่อยอาหาร
- สีน้ำตาล เป็นสีอุจจาระปรกติ
- สีเขียว อาจเกิดจากการติดเชื้อ หรือเกิดการท้องร่วง แต่หากถ่ายปกติแต่มีสีเขียวอย่าเพิ่งตกอกตกใจ ให้นึกดูดี ๆ ก่อนเข้าห้องน้ำทานอะไรเข้าไป อาจจะเป็นพวกผักใบเขียวก็เป็นได้ นอกจากนี้อุจจาระสีเขียวยังเกิดจากการทานยาฆ่าเชื้อบางชนิดด้วยค่ะ
- สีดำ อาจเป็นสัญญาณของการมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหารส่วนต้น หรือการรับประทานยาบำรุงเลือด หรือยาที่มีส่วนผสมของธาตุเหล็ก
- สีแดง ส่วนใหญ่เกิดจากการมีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง แต่บางครั้งอาจเกิดจากการที่เราทานอาหาร หรือผลไม้ที่มีสีแดง เช่น บีทรูท เชอรี่ เป็นต้น
ทั้งนี้หากดูแล้วพบว่าสีอุจจาระของคุณเปลี่ยนไปโดยไม่มีสาเหตุมาจากการรับประทานยา หรืออาหารบางชนิด และทำให้กังวลใจ อาจลองไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยได้ค่ะ
มีอะไรในอุจจาระ?
หลังจากที่คุณได้พิจารณาสีของอุจจาระกันไปแล้ว มาดูกันต่อค่ะว่าในอุจจาระนั้นประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ซึ่งหลัก ๆ แล้วจะประกอบไปด้วยน้ำราว ๆ 63-86% นอกจากนั้นยังมีพวกของเสียต่าง ๆ รวมถึงโปรตีน ไขมันอิ่มตัว กากใยอาหาร คาร์โบไฮเดต น้ำดี รวมถึงจุลินทรีย์ เป็นต้น
ทำไมอุจจาระจึงมีกลิ่นเหม็น?
กลิ่นไม่พึงประสงค์ในอุจจาระเกิดจากแบคทีเรียในลำไส้และอาหารที่เรากินเข้าไป ซึ่งเมื่อเราไม่ได้ขับถ่ายเป็นเวลาหลายวันก็จะยิ่งทำให้มีกลิ่นเหม็นมาก นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นได้จากการรับประมานอาหารที่มีโปรตีนมากเกินไป หรือเกิดจากโรคลำไส้แปรปรวนที่ทำให้เกิดการขับถ่ายไม่ปกติ นอกจากนี้หากสังเกตุว่าคุณมีอาการท้องผูกบ่อยเกินไปหรืออุจจาระมีกลิ่นเหม็นผิดปรกติ แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุค่ะ
ขนาดของอุจจาระมีผลต่อสุขภาพหรือไม่?
จริง ๆ แล้วเรื่องขนาดของอุจจาระไม่มีผลต่อการประเมินสุขภาพโดยรวมค่ะ ไม่ว่าจะขับถ่ายออกมาในลักษณะไหน มีขนาดสั้น หรือยาว ตราบใดที่คุณยังขับถ่ายเป็นปกติ นอกเสียจากว่าคุณจะสังเกตเห็นความผิดปกติอย่างชัดเจน หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดท้องมาก ตะคริว บิด หรือมีเลือดออกเวลาขับถ่าย
อย่างไรก็ตามในแต่ละวัน ขนาดของอุจจาระของเราอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แต่หากความเปลี่ยนแปลงติดต่อกัน 1-2 สัปดาห์ เช่นจากเดิมที่ขับถ่ายปกติ แต่สังเกตุว่าหลัง ๆ มา ขนาดของอุจจาระมีลักษณะเป็นเส้นเล็ก ๆ และบาง อาจเกิดจากลำไส้อุดตัน หรืออาจจะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
นอกจากนี้หากพบว่าขับถ่ายยาก อุจจาระมีความแข็งและหนากว่าปกตินั่นอาจจะเป็นได้ว่าคุณขาดการออกกำลังกาย หรืออาจจะเกิดจากการรับประทานยาบางชนิด รวมถึงไทรอยด์ โรคเซลิแอค (Celiac Disease) รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ อีกด้วยค่ะ
ควรขับถ่ายบ่อยแค่ไหน?
โดยทั่วไปแล้วการขับถ่ายของแต่ละคนย่อมต่างกัน บางคนเข้าห้องน้ำทุกวัน บางคนก็สองครั้งในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งไม่มีกฎตายตัวว่าควรเข้าห้องน้ำบ่อยแค่ไหนถึงจะดีต่อสุขภาพ
แต่อย่างไรก็ตาม จากการอ้างอิงของ Cleveland Clinic การไม่ขับถ่ายติดกัน 3 วันในหนึ่งสัปดาห์นั้นจะทำให้เกิดอาการท้องผูก อุจจาระจะแข็ง และถ่ายยาก หากพบว่าคุณมีอาการท้องผูกติดต่อกันมากกว่า 2 สัปดาห์ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและวินิจฉัยค่ะ
อุจจาระลอย เกิดจากอะไร?
โดยปกติแล้วอุจจาระของเราจะจมทันทีเมื่อขับถ่ายออกมา แต่ในบางกรณีที่อุจจาระลอย อาจเกิดจากการก๊าซส่วนเกิน การดูดซึมและระบบย่อยอาหารผิดปกติ นอกจากนี้ยังรวมถึงการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูง แป้ง และมีปริมาณแลคโตสมากเกินไป อาทิ ถั่ว กะหล่ำปลี แอปเปิ้ล นม และน้ำอัดลม
สำหรับการดูดซึมและระบบย่อยอาหารผิดปกติสามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่อุจจาระถูกขับถ่ายเร็วเกินไป เช่น เมื่อเกิดอาการท้องร่วง นอกจากนี้การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร การแพ้แลคโตส และสภาวะทางการแพทย์อื่น ๆ อาจส่งผลกระทบต่อร่างกายในการดูดซึมสารอาหารเช่นกันค่ะ
การปรับพฤติกรรมในการรับประทานอาหารสามารถทำให้อุจจาระของคุณกลับมาอยู่ในสภาวะปกติ แต่ถ้าหากพบว่าอุจจาระของคุณอยู่ในภาวะไม่ปกติและลอยอยู่นานกว่าสองสัปดาห์ และมีอาการร่วม เช่น วิงเวียน มีไข้ หรือน้ำหนักลดลงอย่างผิดปกติ ควรรีปปรึกษาแพทย์โดยทันทีค่ะ
เป็นเรื่องผิดปกติหรือไม่ หากมีเศษอาหารในอุจจาระ?
การมีเศษอาหารในอุจจาระนั้นเป็นเรื่องปกติค่ะ ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงและลำไส้ไม่สามารถย่อยได้ละเอียด ซึ่งเศษอาหารที่มักจะพบได้ก็จะเป็นพวกข้าวโพด ถั่ว เปลือกมะเขือเทศ เมล็ดผัก-ผลไม้ต่าง ๆ รวมถึงควินัว เป็นต้น ดังนั้นก็ไม่ต้องเป็นกังวลในเรื่องนี้ค่ะนอกเสียจากว่าจะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องร่วง และน้ำหนักลดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเกิดกรณีเช่นนี้ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วนค่ะ
สรุป
หวังว่าข้อมูลที่เบอร์ลินนำมาฝากกันในบทความนี้คงจะช่วยไขข้อข้องใจในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับการขับถ่ายและอุจจาระได้มากขึ้นนะคะ
การสังเกตดูอุจจาระของเราก็เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการที่จะบอกถึงสุขภาพของเราในขณะนั้นได้ และเมื่อพบถึงความผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด อย่าอายที่จะไปปรึกษาแพทย์นะคะ เพื่อที่จะได้หาสาเหตุและรักษากันได้อย่างทันท่วงทีค่ะ
สุขภาพดีเริ่มต้นที่ทางเดินอาหารนะคะ
Berlin GI Life