สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์แล้ว คุณต้องเตรียมใจเตรียมร่างกายให้พร้อมกับการรับมือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปหลายอย่าง และหนึ่งในอาการที่อาจจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ กับคุณแม่ตั้งครรภ์ก็คืออาการท้องผูกค่ะ แล้วอาการท้องผูกมันมาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ได้อย่างไร แล้วจะตั้งพร้อมรับมือกับอาการนี้ได้ยังไงให้ปลอดภัยทั้งสุขภาพของคุณแม่และเบบี๋น้อย ๆ ในท้อง Berlin GI Life มีเกร็ดความรู้ดี ๆ เกี่ยวกับการรับมือเมื่อท้องผูกขณะตั้งครรภ์มาฝากกันค่ะ
ท้องผูกขณะตั้งครรภ์ มีความสัมพันธ์กันอย่างไร
อาการท้องผูกกับการตั้งครรภ์ มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างที่หลายคนคิดไม่ถึง แต่อย่าเพิ่งกังวลไปนะคะ การท้องผูกระหว่างตั้งครรภ์นั้นไม่ใช่เรื่องน่ากลัวหรือน่ากังวลใจจนเกินไปเลยค่ะ เพราะอาการท้องผูกกับการตั้งครรภ์นั้นเป็นปัญหาที่คุณแม่เกินกว่าครึ่งหนึ่งต้องพบเจอ แต่ถึงแม้ว่าปัญหาท้องผูกระหว่างตั้งครรภ์จะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่คุณก็จะปล่อยปละละเลยไม่ได้นะคะ เพราะอาการท้องผูกนั้น หากปล่อยทิ้งให้เรื้อรังอาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของคุณแม่ ดังนั้น คุณควรจะต้องเรียนรู้วิธีรับมือกับปัญหาท้องผูกในระหว่างตั้งครรภ์กันอย่างถูกวิธีกันค่ะ
อาการท้องผูกกับการตั้งครรภ์
- อาการท้องผูกระหว่างตั้งครรภ์เกิดจาก ในระหว่างที่ตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะเพิ่มมากขึ้น การเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนตัวนี้ทำให้กล้ามเนื้อในลำไส้คลายตัว อาหารและของเสียจึงเคลื่อนตัวจากลำไส้ได้ช้าลง ส่งผลต่อการขับถ่ายของคุณแม่เป็นไปได้ยากขึ้น จำนวนครั้งในการถ่ายน้อยลง และอาจทำให้อุจจาระแข็งขึ้น
- ในช่วงที่ตั้งครรภ์เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจหลายอย่าง คุณแม่อาจจะมีความวิตกกังวลมากขึ้น มีความเครียดเพิ่มขึ้น ซึ่งความวิตกกังวลไม่ผ่อนคลายนั้นส่งผลให้ท้องผูกได้ง่ายขึ้นด้วย
- ในช่วงที่ตั้งครรภ์คุณแม่ส่วนใหญ่จะกังวลไม่กล้าขยับร่างกายมากนัก ไม่กล้าที่จะออกกำลังกาย การไม่ออกกำลังกาย หรือการเคลื่อนไหวร่างกายที่ลดลง ทำให้ท้องผูกได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ
- เมื่อเราไปฝากครรภ์ คุณหมอมักจะแนะนำให้ทานวิตามิน หรือเสริมธาตุอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็น วิตามินหรือธาตุอาหารบางชนิดส่งผลให้ท้องผูกได้ง่ายขึ้น เช่น ยาเม็ดธาตุเหล็กอาจทำให้ท้องผูกได้ ดังนั้นในช่วงนี้คุณแม่ควรจะดื่มน้ำเยอะ ๆ เพื่อช่วยในการขับถ่าย หรือหากมีปัญหาค่อนข้างรุนแรง ก็ควรปรึกษาคุณหมอถึงแนวทางในการทานวิตามินหรือธาตุอาหารเสริมที่เหมาะสมค่ะ
- การเจริญเติบโตของทารกก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีอาการท้องผูกได้ เพราะเมื่อมดลูกขยายตัวใหญ่ขึ้นอาจจะส่งผลให้เกิดแรงดันบริเวณทวารหนักจนกระทบต่อระบบขับถ่ายนั่นเอง
จะแก้อาการท้องผูกระหว่างตั้งครรภ์ได้อย่างไร?
เอาล่ะค่ะ เมื่อเราทราบกันแล้วว่าอาการท้องผูกกับการตั้งครรภ์นั้น มีที่มาที่ไปอย่างไร เราก็มาดูกันต่อว่าแล้วคุณจะดูแลสุขภาพ หรือป้องกันรักษาอาการท้องผูกกับการตั้งครรภ์นี้ได้อย่างไรบ้าง ควรจะต้องดูแลตัวเองแบบไหนอย่างไรให้ปลอดภัยและสุขภาพดีทั้งคุณแม่และคุณลูกในท้องนะคะ
วิธีแก้ไขอาการท้องผูกกับการตั้งครรภ์โดยไม่ใช้ยาระบาย
รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์หรือกากใยสูง
คุณแม่จะทานอาหารตามใจตัวเองไม่ได้แล้วนะคะ ใครที่ปกติทานผักน้อย ทานผลไม้น้อย หรือไม่ค่อยได้สนใจว่าอาหารที่ทานมีไฟเบอร์เพียงพอหรือเปล่า ตอนนี้เราต้องสนใจแล้วค่ะ เพราะนอกจากสารอาหารที่ร่างกายต้องการเพื่อบำรุงครรภ์แล้ว เราต้องการไฟเบอร์ที่เข้ามาช่วยรักษาสมดุลของระบบขับถ่ายด้วย ตามหลักการแล้ว เราจะต้องบริโภคใยอาหาร 25 ถึง 30 กรัมต่อวัน อาหารที่มีไฟเบอร์สูงก็เช่น ผลไม้ ผัก ขนมปังโฮลเกรน ลูกพรุน และรำข้าว การทานอาหารที่มีกากใยสูงจะช่วยให้ขับถ่ายง่ายขึ้นแน่นอนค่ะ
ดื่มน้ำมาก ๆ
เราทุกคนทราบกันดีว่าการดื่มน้ำมาก ๆ ดีต่อสุขภาพ แต่ยิ่งตั้งครรภ์ ยิ่งต้องจริงจังกับการดื่มน้ำมาก ๆ นะคะ เพราะนอกจากการทานอาหารที่มีใยอาหารเพิ่มขึ้นจะช่วยให้อุจจาระนิ่มขึ้นแล้ว การดื่มน้ำ 10 ถึง 12 แก้วต่อวัน จะเป็นการผสานความร่วมมือ ระหว่างอาหารที่มีเส้นใยสูงและของเหลวจำนวนมากที่ช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์กำจัดของเสียได้ดีที่สุดอีกด้วย
เพิ่มอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ (Probiotics)
โพรไบโอติกส์ คือจุลินทรีย์มีประโยชน์ที่อาศัยอยู่ภายในร่างกายมนุษย์ ส่งผลดีต่อการทำงานของลำไส้และการขับถ่าย ช่วยลดอาการท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก และอาการปวดท้องด้วยการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งโพรไบโอติกส์พบได้ในอาหารหมักดอง เช่น โยเกิร์ต กิมจิ รวมไปถึงอาหารเสริมโพรไบโอติกส์รูปแบบต่าง ๆ ซึ่งก่อนทานควรเลือกที่สะอาด และมั่นใจว่าปลอดภัยนะคะ
เสียเหงื่อออกกำลังกายสักหน่อย
คุณแม่ตั้งครรภ์ก็สามารถออกกำลังกายได้นะคะ เพียงแค่เลือกวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับเราเท่านั้นเอง การออกกำลังกายช่วยลดโอกาสที่จะท้องผูกได้มาก ไม่ว่าจะเป็น การเดิน ว่ายน้ำ หรือการออกกำลังกายระดับปานกลางอื่น ๆ ก็จะช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้ขับถ่ายได้ง่าย แถมสุขภาพโดยรวมยังดีขึ้นอีกด้วย คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 20-30 นาที นะคะ และควรอยู่ในความดูแลหรือปรึกษาแพทย์ด้วยนะคะ
ลดหรือปรับเปลี่ยนการทานอาหารเสริมธาตุเหล็ก
อย่างที่กล่าวไปแล้วนะคะว่า อาหารเสริมธาตุเหล็กอาจทำให้ท้องผูกได้ ถ้าคุณสงสัยว่านี่คือสาเหตุของอาการท้องผูก คุณควรจะปรึกษาคุณหมอที่เราฝากครรภ์เพื่อขอตรวจสอบระดับธาตุเหล็กของเรา และขอคำปรึกษาถึงแนวทางการทานธาตุเหล็กในปริมาณน้อยลง หรือปริมาณที่เหมาะสมต่อไปค่ะ
วิธีแก้ไขอาการท้องผูกกับการตั้งครรภ์ โดยใช้ยาระบาย
การทานยาระบายเพื่อลดปัญหาท้องผูกในคุณแม่ตั้งครรภ์ เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันอย่างมาก เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วเราจะกังวลว่าการทานยาระบายจะเป็นอันตรายต่อเด็กทารกในครรภ์หรือเปล่า อาการท้องผูกต้องรุนแรงขนาดไหนเราจึงจะควรเลือกใช้ยาระบาย Berlin GI Life ขอให้คำแนะนำอย่างนี้นะคะ
สำหรับปัญหาท้องผูก ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ตั้งครรภ์หรือคนทั่วไป วิธีการในการรักษาดูแลนั้น ควรเริ่มจากการปรับพฤติกรรมหรือวิธีการที่ไม่ต้องใช้ยาระบาย (ดังที่กล่าวไปแล้ว) เป็นลำดับแรก แต่หากวิธีการตามธรรมชาติหรือการปรับพฤติกรรมนั้นไม่ได้ผล และอาการท้องผูกของคุณส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว ทำให้ปวดท้อง มีความเสี่ยงจะเกิดโรคริดสีดวง การใช้ยาระบายเพื่อช่วยในการแก้ปัญหาท้องผูกก็เป็นเรื่องที่จำเป็นและใช้ได้ค่ะ เพียงแต่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมกับปัญหาและสุขภาพ
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ยาระบายที่สามารถใช้ได้ คือ
ยาระบายในกลุ่มที่ช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ (bulk-forming laxatives)
กลุ่มยาระบายที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง กลไกการทำงานของยาระบายกลุ่มนี้ คือการรับประทานยาระบายที่มีส่วนผสมของไฟเบอร์ธรรมชาติ เช่น เมล็ดไซเลียม ฮัสก์ เพื่อเข้าไปช่วยเพิ่มไฟเบอร์ในร่างกาย ทำให้กลไกการทำงานของลำไส้มีความสมดุลมากขึ้น ระบบขับถ่ายหรือการถ่ายก็ดีขึ้น ยาระบายในกลุ่มนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาท้องผูกแต่ไม่รุนแรงมาก หรือท้องผูกจากการรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์น้อย
ยาระบายชนิดเพิ่มน้ำในลำไส้ (osmotic laxatives)
ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ดึงน้ำไว้ในช่องลำไส้ใหญ่โดยวิธีออสโมซิส (osmosis) ช่วยให้อุจจาระนุ่มและผ่านสำไส้ใหญ่ได้ดีขึ้น ยาระบายในกลุ่มนี้เหมาะสำหรับคุณแม่ที่มีปัญหาท้องผูกที่เรื้อรัง ถ้ายาระบายในกลุ่มเพิ่มปริมาณอุจจาระอาจจะมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้การเพิ่มน้ำในลำไส้เข้ามาช่วย กลไกการทำงานของยาระบายกลุ่มนี้ เช่น การใช้แลคตูโลส ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกส์ ซึ่งถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลําไส้ใหญ่เกิดเป็นกรดอินทรีย์ซึ่งจะดูดน้ำเข้ามาในอุจจาระ ช่วยให้อุจจาระมีลักษณะอ่อนนุ่ม และยังสามารถกระตุ้นให้ลําไส้ใหญ่มีการเคลื่อนไหวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้ยาระบายในกลุ่มนี้สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ควรได้นับคำแนะนำจากเภสัชกร หรือคุณหมอนะคะ
จะป้องกันหรือลดอาการท้องผูกขณะตั้งครรภ์ได้อย่างไร?
การป้องกันหรือลดอาการท้องผูกในระหว่างตั้งครรภ์นั้น สามารถทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรมของคุณแม่เอง เพื่อสร้างเสริมสุขภาพการขับถ่ายที่ดี แม้ว่าสภาพร่างกายและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ จะทำให้เราท้องผูกได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าหากคุณแม่ใส่ใจดูแลตัวเอง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ อย่างเพียงพอ ดื่มน้ำเยอะ ๆ หมั่นออกกำลังกาย และทำกิจกรรมที่ลดความเครียดช่วยให้ผ่อนคลาย ไม่ปล่อยให้อาการท้องผูกเรื้อรัง เพียงเท่านี้ก็จะป้องกัน หรือลดความเสี่ยงในการท้องผูกระหว่างตั้งครรภ์ได้แล้วค่ะ

สรุป
อาการท้องผูกระหว่างตั้งครรภ์นั้น เป็นปัญหาด้านสุขภาพที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน แม้ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลจนเกินไป แต่ก็เป็นเรื่องที่ไม่สมควรจะละเลย เพราะอาการท้องผูกในระหว่างตั้งครรภ์หากไม่ได้รับการดูแล อาจจะกลายเป็นท้องผูกเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้
อย่างไรก็ตาม อาการท้องผูกอาจเป็นสัญญาณของปัญหาอื่น ๆ เช่น หากมีอาการท้องผูกรุนแรง พร้อมกับอาการปวดท้อง ท้องร่วงสลับกัน หรือมีเสมหะหรือเลือดปน การเกร็งระหว่างการถ่ายอุจจาระ หรือถ่ายอุจจาระแข็ง มีความเสี่ยงในการเป็นโรคริดสีดวงทวารก็สมควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อให้คำแนะนำและตรวจดูอาการต่อไปค่ะ
สุขภาพดีเริ่มต้นที่ทางเดินอาหารนะคะ
Berlin GI Life