ท้องผูก ถ่ายไม่ออกนาน ๆ เสี่ยงต่ออันตรายอะไรบ้าง - featured image

ท้องผูก ถ่ายไม่ออกนาน ๆ เสี่ยงต่ออันตรายอะไรบ้าง

ปัญหาท้องผูก ถ่ายไม่ออก เป็นปัญหาที่เชื่อว่าหลาย ๆ คนต้องพบเจอ นั่นก็เป็นเพราะว่า ในปัจจุบันเราต้องใช้ชีวิตที่เร่งรีบ การรับประทานอาหาร หรือการดูแลสุขภาวะต่าง ๆ ก็อาจจะเผลอไผลทำให้เกิดอาการท้องผูก ถ่ายไม่ออกกันบ้าง หลายคนจึงคิดว่าเรื่องท้องผูกก็เป็นเรื่องธรรมดา ไม่น่าจะเป็นปัญหาสุขภาพที่เสี่ยงอันตรายอะไร แต่รู้หรือไม่ว่าการปล่อยให้เกิดภาวะท้องผูก ถ่ายไม่ออกนาน ๆ ส่งผลเสียและอาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ ของเราได้ด้วย ใครมีความเสี่ยงในการท้องผูก ถ่ายไม่ออกบ่อย ๆ ตามมาดูกันว่า ท้องผูกนาน ๆ เสี่ยงต่ออันตรายอะไรบ้างค่ะ

มารู้จักอาการท้องผูกกันก่อน

ก่อนที่เราจะไปดูกันว่า ท้องผูก ถ่ายไม่ออกนาน ๆ เสี่ยงต่ออันตรายอะไรบ้าง เรามาเช็คกันก่อนค่ะ ว่าเรากำลังเผชิญกับปัญหาท้องผูกอยู่หรือไม่

อาการท้องผูกนั้นเป็นภาวะที่ถ่ายอุจจาระลำบาก อาจจะต้องออกแรงเพื่อเบ่งถ่ายอุจจาระมากกว่าปกติ อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ถ่ายยาก ถ่ายแล้วไม่สุด ในบางกรณีเราอาจจะรู้สึกเหมือนมีอะไรมาอุดทวารหนัก หรือหากใครจะลองพิจารณาการขับถ่ายของตัวเองผ่านความถี่ในการขับถ่าย 

ข้อบ่งชี้ที่จะถือว่ามีอาการท้องผูก หากจะนับตามจำนวนครั้งในการขับถ่าย ถือว่าการที่เราถ่ายได้เองน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ จึงจะนับว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคท้องผูกค่ะ ทั้งนี้อาการท้องผูก สามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม จำแนกจากสาเหตุการเกิดภาวะท้องผูก ได้แก่

  1. ท้องผูก จากความผิดปกติของการทำงานของลำไส้และการขับถ่าย (Primary Constipation)  ได้แก่ ท้องผูกชนิดที่มีการเคลื่อนไหวตัวของลำไส้ผิดปกติ หรือลำไส้แปรปรวน ท้องผูกชนิดที่มีความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการขับถ่าย เกิดจากการที่กล้ามช่องท้องที่ใช้ช่วยในการเบ่งมีแรงไม่เพียงพอ การที่กล้ามเนื้อหูรูดทำงานไม่สัมพันธ์กับการเบ่งถ่ายอุจจาระ โดยมีการเกร็งตัวหรือไม่คลายตัวดีพอขณะทำการเบ่งถ่าย
  2. ท้องผูกที่มีปัจจัยอื่น ๆ นอกจากการทำงานของลำไส้และการขับถ่าย (Secondary Constipation)  ได้แก่ การอุดกั้นของทางเดินอาหาร การตีบแคบของลำไส้จากพังผืดหรือการผ่าตัด ภาวะตั้งครรภ์ โรคทางระบบต่อมไร้ท่อต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ความผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย หรือท้องผูกจากการใช้ยาบางประเภท เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มที่มีมอร์ฟีน ยารักษาความดันโลหิตบางกลุ่ม  ซึ่งส่งผลต่อระบบขับถ่าย

ระหว่างท้องผูกฉับพลันกับท้องผูกเรื้อรัง แบบไหนที่เสี่ยงต่ออันตราย

อาการท้องผูก ถ่ายไม่ออก อาจจะเป็นภาวะท้องผูกฉับพลัน นั่นก็คือการถ่ายลำบาก ถ่ายยาก มีอาการท้องผูกเพียงแค่ 2-3 วัน ซึ่งอาจจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต การไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ความเจ็บป่วย การเดินทาง ซึ่งเมื่อปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ทานผักผลไม้ให้มากหรือซื้อยาระบายมารับประทาน ก็บรรเทาอาการลงได้

แต่หากมีอาการท้องผูกต่อเนื่องเป็นเดือน ๆ หรือมากกว่า 3 สัปดาห์ เราเรียกว่ามีภาวะท้องผูกเรื้อรัง  ซึ่งการมีภาวะท้องผูกเรื้อรัง ถ่ายไม่ออกนาน ๆ นั้น จะส่งผลเสียหรือทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ

Infographic ท้องผูก ถ่ายไม่ออกนานๆ เสี่ยงต่ออันตรายอะไรบ้าง

ท้องผูกเรื้อรัง ท้องผูกบ่อย ๆ อันตรายอย่างไร

อาการท้องผูก ถ่ายไม่ออก ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจอย่างมาก เพราะการท้องผูกนั้นจะทำให้เรารู้สึกอึดอัด เครียด ไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า ในบางคนอาจจะรู้สึกเบื่ออาหาร ปวดหัว ปวดหลัง และแสบร้อนบริเวณหน้าอก และถ้าหากเป็นท้องผูกบ่อย ๆ จนกลายเป็นอาการเรื้อรัง ก็จะส่งผลกระทบที่อันตรายต่อร่างกาย เช่น

  • ทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร เนื่องจากก้อนอุจจาระแข็งทำให้เบ่งยาก และไปกดครูดกับบริเวณทวารหนักทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวาร หรือแผลปริรอบ ๆ ทวารหนักจากอุจจาระที่แห้งแข็งครูดหลอดเลือดจนฉีกขาด
  • อาการท้องผูกเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะอุจจาระอัดแน่น  เนื่องจากเมื่อท้องผูก ถ่ายได้ยาก ก็ทำให้ถ่ายอุจจาระได้ไม่หมด เมื่ออุจจาระตกค้างและเกาะผนังลำไส้อัดแน่นนานก็จะส่งผลให้มีอาการท้องผูกรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ หายใจติดขัด แน่นท้อง รู้สึกมีลมในท้องจำนวนมาก
  • ภาวะอุจจาระอัดแน่น หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบดูแลรักษา อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายมากกว่าเดิม คือภาวะลำไส้อุดตัน จนไม่สามารถผายลมหรืออุจจาระได้ และอาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • อาการท้องผูกเรื้อรัง ทำให้ความดันในช่องทรวงอกเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยโรคหัวใจอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ และทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้นซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดตาและหู
  • อาการท้องผูกเรื้อรัง ส่งผลต่อความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหมอนรองกระดูก และความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหมอนรองกระดูกจะส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง
  • อาการท้องผูกทำให้ป่วยง่าย ภูมิคุ้มกันต่ำ เพราะ 80% ของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างที่ระบบทางเดินอาหาร ดังนั้น หากมีอาการท้องผูกเรื้อรัง หรือท้องผูกบ่อย ๆ ทำให้ร่างกายสะสมของเสียไว้ในลำไส้นาน ก็จะส่งผลต่อการดูดซึมสารอาหารที่จำเป็น และทำให้เสียสมดุลของจุลินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ป่วยง่าย
  • อาการท้องผูก ถ่ายไม่ออกนาน ๆ ทำให้เกิดปัญหากลิ่นปาก เพราะอาการท้องผูก ทำให้มีของเสียหรือแบคทีเรียที่ไม่ดี ตกค้างอยู่ในลำไส้นาน ทำให้เกิดการสะสมของก๊าซ และกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งจะแสดงออกมาในรูปแบบของกลิ่นปาก กลิ่นตัว
  • อาการท้องผูก ถ่ายไม่ออกนาน ๆ ทำให้เป็นสิว ผิวหมองคล้ำ เพราะอาการท้องผูก ทำให้เกิดของเสียสะสมในร่างกายนาน และร่างกายจะขับของเสียออกทางผิวหนัง จึงเป็นสาเหตุของผิวเสีย หมองคล้ำ และปัญหาสิว

ท้องผูก ถ่ายไม่ออกนาน ๆ ควรทำอย่างไร

หลาย ๆ คนคงจะมีปัญหาท้องผูกมาเป็นเวลานานและมักอาจจะคิดไปว่ามันเป็นเรื่องปกติที่เราจะท้องผูก แต่ในความเป็นจริงแล้วการปล่อยให้ท้องผูกติดต่อกันเป็นเวลานานจนเรื้อรัง หรือท้องผูกบ่อย ๆ อาจส่งผลให้เกิดผลเสียหลายอย่างทั้งทางร่างกายและจิตใจ

เราจึงไม่ควรปล่อยปละละเลยให้เกิดการท้องผูกเรื้อรัง ควรดูแลรักษาสุขภาพและแก้ไขอาการท้องผูก ซึ่งมีแนวทางในการดูแลรักษาดังนี้ค่ะ

การรักษาอาการท้องผูกเรื้อรัง ด้วยการปรับพฤติกรรม

เพราะสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่มีปัญหาท้องผูก ถ่ายไม่ออก มาจากเรื่องของพฤติกรรมที่ไม่เอื้อให้เกิดสุขภาวะที่ดี เช่น การดื่มน้ำน้อย การมีความเครียดสูง มีเวลาจำกัด การทานอาหารที่ไม่มีกากใย

ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดและเป็นวิธีแรกที่ควรเลือกใช้ในการรักษาอาการท้องผูกก็คือการปรับพฤติกรรม อาทิ

  • รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง โดยเฉพาะผักและผลไม้ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถย่อยใยอาหารได้ จึงยังอยู่ในลำไส้และอุ้มน้ำเอาไว้ ส่งผลให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดียิ่งขึ้น
  • ดื่มน้ำไม่น้อยกว่าวันละ 2 ลิตร เพื่อให้อุจจาระไม่แข็งจนเกินไป ร่างกายจึงขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารและกล้ามเนื้อหลัง ซึ่งจะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนไหวดีขึ้น
  • ฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลาในแต่ละวัน เพราะหากไม่ทำเป็นประจำจะทำให้ปฏิกิริยาของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายมีประสิทธิภาพลดลงจนเกิดอาการท้องผูกได้
  • อย่ากลั้นอุจจาระ หรือรีบร้อนในการขับถ่าย เพราะอาจทำให้เกิดโรคริดสีดวงทวารได้

การรักษาอาการท้องผูกเรื้อรังด้วยยาระบาย

หากการปรับพฤติกรรมการทานอาหาร การออกกำลังกายไม่ได้ผล ก็อาจจะจำเป็นต้องใช้ยาในการรักษาอาการท้องผูก ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักจะเริ่มต้นด้วยการใช้ยาระบาย (Laxatives) ในกลุ่มที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เน้นการเสริมไฟเบอร์ให้กับร่างกาย เช่น การใช้ยาในกลุ่มที่มีไซเลียม ฮัสก์ ซึ่งเป็นไฟเบอร์ธรรมชาติที่ถือเป็นยาระบายชนิดหนึ่งที่ออกฤทธิ์เพิ่มปริมาณอุจจาระ เป็นกลุ่มยาระบายที่มีความปลอดภัยสูง เน้นกลไกการทำงานโดยการเพิ่มไฟเบอร์ให้กับระบบลำไส้

หากยาระบายในกลุ่มที่ออกฤทธิ์เพิ่มปริมาณอุจจาระยังไม่ได้ผล อาจจะเลือกใช้ยาระบายในกลุ่มเพิ่มน้ำในลำไส้ (Osmotic laxatives) ที่มีแลคตูโลส (Lactulose) ซึ่งยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ดึงน้ำไว้ในช่องลำไส้ใหญ่โดยวิธีออสโมซิส (Osmosis) ช่วยให้อุจจาระนุ่มและผ่านสำไส้ใหญ่ได้ดีขึ้น ซึ่งยาระบายในกลุ่มนี้มีความปลอดภัยสูง สามารถปรึกษาเภสัชกรและหาซื้อในร้านขายยาได้

สรุป

อย่างไรก็ตามการใช้ยาระบาย ต้องทำควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะจะสร้างสมดุลให้ระบบขับถ่ายของเรากลับมาเป็นปกติโดยไม่ต้องพึ่งยาในที่สุด ทั้งนี้ หากคุณสังเกตและพบว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกับการใช้ยาระบายเบื้องต้นไม่สามารถรักษาอาการท้องผูกเรื้อรังได้ ก็ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไปค่ะ

สุขภาพดีเริ่มต้นที่ทางเดินอาหารนะคะ

Berlin GI Life

Related Articles

บทความที่คุณอาจสนใจ

ลำไส้สุขภาพดีแข็งแรง ด้วยประโยชน์ของไพรไบโอติกส์

ลำไส้สุขภาพดีแข็งแรง ด้วยประโยชน์ของโพรไบโอติกส์

โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร พบได้บ่อยกับทุกเพศทุกวัยในปัจจุบัน Berling GI Life จะพาไปทำความรู้จักกับประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ที่มีต่อระบบทางเดินอาหารของเราค่ะ

อ่านต่อ »
นานแค่ไหนกว่าโพรไบโอติกส์ที่กินไปจะเห็นผล - featured image

นานแค่ไหนกว่าโพรไบโอติกส์ที่กินไปจะเห็นผล

จะรู้ได้อย่างไรว่าโพรไบโอติกส์ที่ทานไปนั้นได้ผลจริง ๆ แล้วจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหนจึงจะทำให้โพรไบโอติกส์ที่ทานไปออกดอกออกผล มาไขข้อสงสัยในบทความนี้เลยค่ะ

อ่านต่อ »
รู้ได้อย่างไร ว่าร่างกายเราต้องการโพรไบโอติกส์ - featured image

รู้ได้อย่างไร ว่าร่างกายเราต้องการโพรไบโอติกส์ ?

วิธีสังเกตอาการผิดปกติ หรืออาการเจ็บป่วยในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเราซึ่งจะปรากฏภายหลังจากโพรไบโอติกส์ลดจำนวนลง ซึ่งมีดังในบทความนี้ค่ะ

อ่านต่อ »