ผ่าคลอด… ลูกเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ !

รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์
ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

การผ่าคลอด ทำให้เด็กเสี่ยงต่อการมีระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติไปและมีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อและโรคภูมิแพ้ง่ายขึ้น แม้ว่าจะไม่มีประวัติทางกรรมพันธุ์ หรือไม่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สภาพสิ่งแวดล้อม อากาศ หรือปัจจัยอื่น ๆ ก็ยังเป็นโรคติดเชื้อและโรคภูมิแพ้กันมากมาย ลองดูตัวอย่างการวิจัย

• ที่นอร์เวย์ มีการศึกษาในเด็กแรกเกิดถึงอายุ2.5 ปี ที่มีปัญหาแพ้นมวัว 2,600 คน พบว่าเด็กที่ได้รับการผ่าตัดคลอดมีอัตราการเป็นโรคแพ้นมวัวมากกว่าเด็กที่คลอดทางช่องคลอดถึง 3.3 เท่า และถ้าตัวคุณแม่มีประวัติเป็นโรคภูมิแพ้ด้วยอัตราการแพ้นมวัวของลูกก็จะมากขึ้นเป็น 9.7 เท่าเลยทีเดียว

• ที่ไต้หวัน มีการศึกษาในเด็กอายุ1 เดือนและ1 ปี ที่ต้องรับไว้ในโรงพยาบาลหลายหมื่นคนด้วยโรคติดเชื้อ โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคระบบทางเดินอาหาร เมื่อศึกษาถึงประวัติการคลอด พบว่าเด็กที่คลอดโดยการผ่าตัดคลอด มีอัตราการเจ็บป่วยมากกว่าเด็กที่คลอดทางช่องคลอด 3-4 เท่า

• ที่สหรัฐอเมริกา มีการศึกษาในเด็กอายุ 3-10 ปี ที่เป็นโรคภูมิแพ้ชนิดต่างๆ ทั้งโรคภูมิแพ้ของจมูกและตา รวมทั้งหอบหืด 7,800 คน พบว่าเด็กที่ผ่าตัดคลอด มีอัตราการเกิดโรคมากกว่าเด็กที่คลอดทางช่องคลอด ประมาณ 1.2 เท่า

*จะเห็นว่าเด็กที่ผ่าตัดคลอดมีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อและโรคภูมิแพ้มากกว่าทารกที่คลอดผ่านทางช่องคลอด*

ชีวิตคนเราอยู่อย่างสงบสุขได้อย่างไร?
การที่ร่างกายเราสามารถทำงานได้ตามปกติ ก็เพราะในกระแสเลือดมีเม็ดเลือดมากมายหลายชนิดซึ่งทำหน้าที่ต่างกัน และเมื่อทำงานร่วมกับระบบอื่น ๆ ของร่างกายจะทำให้มีสุขภาพแข็งแรงโดยเฉพาะเม็ดเลือดขาว ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างภูมิต้านทานโรคต่าง ๆ และปรับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สมดุลอย่างมีประสิทธิภาพ
ขบวนการทำงานของเม็ดเลือดขาวนั้นค่อนข้างสลับซับซ้อนและต้องมีผู้ช่วย คือ โพรไบโอติค(Probiotic) ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และจะอาศัยอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายนับล้านล้านตัว แต่บริเวณที่โพรไบโอติคชอบอยู่มากเป็นพิเศษคือ ในลำไส้ใหญ่ และช่องคลอด

คุณแม่บางคนคงเคยได้ยินโฆษณาขายนมเปรี้ยวบางยี่ห้อที่ใส่แบคทีเรียพวกแลคโตบาซิลไล (Lactobacilli) หรือบิฟิโดบาซิลไล (Bifidobacilli) แบคทีเรียเหล่านี้ เมื่อกินเข้าไปแล้วจะไปอยู่ในลำไส้ใหญ่และช่วยการทำงานของร่างกายซึ่งก็คือ โพรไบโอติคชนิดหนึ่งนั่นเอง

บทบาทของโพรไบโอติค
โพรไบโอติคตัวสำคัญที่ชอบอาศัยอยู่ในช่องคลอดของคนเรามีชื่อว่า “โดเดอรีนบาซิลไล” อยู่ได้โดยกินอาหารพวกน้ำตาลที่มีอยู่ในเซลล์ของผนังช่องคลอด แล้วขับถ่ายของเสียออกมาเป็นกรดแลคติค ที่สามารถฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคต่างๆโดยไม่ทำร้ายร่างกายเรา จึงทำให้ช่องคลอดสะอาดปราศจากเชื้อโรค

ส่วนในลำไส้ใหญ่ ก็มีโพรไบโอติคอยู่หลายชนิด เช่น ไลแลคโตบาซิลไลและบิฟิโดบาซิลไล พวกนี้มีชีวิตโดยอาศัยอาหารที่มีอยู่ในลำไส้ใหญ่ โพรไบโอติคที่ลำไส้ใหญ่ ทำหน้าที่ที่สำคัญหลายอย่างทั้งในแง่ต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่จะมาทำร้ายร่างกายโดยการสร้างสารเคมีบางอย่างเข้าไปทำลายเชื้อโรค ป้องกันเชื้อก่อโรคไม่ให้วิ่งทะลุเยื่อบุลำไส้เข้าไปแผลงฤทธิ์ได้ ที่น่าสนใจอีกคือมันแย่งอาหารจนเชื้อก่อโรคกินไม่ทัน หมดเรี่ยวแรง และตายไปในที่สุด

นอกจากจะฆ่าเชื้อก่อโรคแล้ว โพรไบโอติคในลำไส้ใหญ่ ยังมีหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่งก็คือ มันจะไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวชนิดที่เรียกชื่อว่า ลิมโฟไซท์ (Lymphocyte) ที่อยู่ในต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ใหญ่ ให้ปรับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้อยู่ในสภาวะสมดุลและร่างกายอยู่อย่างสงบ ถ้าปราศจากโพรไบโอติคเวลาร่างกายรับสารแปลกปลอมจากภายนอก เช่น ฝุ่นละออง ยา หรืออาหารบางชนิด เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซท์อาจจะสร้างสารเคมีบางอย่างออกมาอย่างมากมายเกินความจำเป็น ทำให้เราเป็นโรคได้ เช่น ที่จมูกจะมีน้ำมูกไหลไม่หยุด หรือที่ตาจะมีอาการคันตาและน้ำตาไหลตลอดเวลา ซึ่งเราเรียกว่า โรคภูมิแพ้ นั่นเอง เป็นต้น

ผ่าตัดคลอดสัมผัสโพรไบโอติคน้อยจริงหรือ?
เมื่อมีการคลอดทางช่องคลอด ทารกจะค่อย ๆ เคลื่อนออกมาจากมดลูกลงมาในช่องคลอด และออกมาสู่ภายนอกร่างกายในที่สุด ขณะที่ผ่านลงมาในช่องคลอด โพรไบโอติคที่อยู่ในช่องคลอดและในลำไส้ใหญ่ส่วนล่างๆ ใกล้รูก้นของคุณแม่จะปนเปื้อนอยู่ในมูกเลือดในช่องคลอด ทารกจึงมีโอกาสที่จะกลืนกินหรือได้รับโพรไบโอติคผ่านเข้าทางปากหรือจมูกแล้วลงไปในลำไส้ใหญ่ เพื่อไปกระตุ้นให้ร่างกายทารกเริ่มสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายตั้งแต่ขณะจะคลอด
ส่วนการผ่าตัดคลอด ทารกจะถูกล้วงและควักผ่านออกมาทางแผลผ่าตัดหน้าท้องโดยไม่ผ่านช่องคลอด ทำให้หมดโอกาสที่จะได้รับโพรไบโอติคในช่องคลอดและลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง นอกจากนี้ ในการผ่าตัดคลอด คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียขณะผ่าตัดด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะทำให้เชื้อแบคทีเรียทั้งเชื้อก่อโรคและโพรไบโอติคถูกฆ่าทำลายไปด้วยกัน ยิ่งเป็นการซ้ำเติมทารกแรกเกิดให้หมดโอกาสที่จะได้รับโพรไบโอติคมากขึ้นไปอีก

นอกจากเหตุผลที่สำคัญข้างต้น การคลอดทั้ง 2 วิธี ยังมีความแตกต่างกันอยู่ในตัว

การคลอดผ่านช่องคลอด
1. คลอดในห้องที่สะอาด แต่ไม่สะอาดมากถึงขั้นปราศจากเชื้อโรค ทำให้ลูกได้สัมผัสโพรไบโอติคจากสิ่งแวดล้อมในห้องคลอดได้มากกว่า
2. มีความเจ็บแผลที่ช่องคลอดเล็กน้อย สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ซึ่งมีโพรไบโอติคเป็นองค์ประกอบได้ทันที ยิ่งลูกได้รับนมแม่เร็วเท่าใด โพรไบโอติคที่ได้รับก็จะยิ่งกระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้สร้างระบบภูมิคุ้มกันได้เร็วเท่านั้น

การผ่าตัดคลอด
1. ต้องทำในห้องที่ปราศจากเชื้อ เพราะกลัวเชื้อโรคลงไปในท้องคุณแม่ ทำให้โอกาสที่ลูกจะสัมผัสกับโพรไบโอติคได้น้อย
2. เจ็บแผลมากกว่าทั้งแผลหน้าท้องและแผลที่ช่องคลอด ขยับตัวลำบาก ต้องนอนซมเป็นวันๆ และต้องรออย่างน้อย 2-3 วัน ถึงจะให้นมลูกได้ ซึ่งจะทำให้ลูกเสียโอกาสที่จะได้โพรไบโอติคอย่างรวดเร็ว

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (mahidol.ac.th)

Related Articles

บทความที่คุณอาจสนใจ

ลำไส้สุขภาพดีแข็งแรง ด้วยประโยชน์ของไพรไบโอติกส์

ลำไส้สุขภาพดีแข็งแรง ด้วยประโยชน์ของโพรไบโอติกส์

โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร พบได้บ่อยกับทุกเพศทุกวัยในปัจจุบัน Berling GI Life จะพาไปทำความรู้จักกับประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ที่มีต่อระบบทางเดินอาหารของเราค่ะ

อ่านต่อ »
นานแค่ไหนกว่าโพรไบโอติกส์ที่กินไปจะเห็นผล - featured image

นานแค่ไหนกว่าโพรไบโอติกส์ที่กินไปจะเห็นผล

จะรู้ได้อย่างไรว่าโพรไบโอติกส์ที่ทานไปนั้นได้ผลจริง ๆ แล้วจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหนจึงจะทำให้โพรไบโอติกส์ที่ทานไปออกดอกออกผล มาไขข้อสงสัยในบทความนี้เลยค่ะ

อ่านต่อ »
รู้ได้อย่างไร ว่าร่างกายเราต้องการโพรไบโอติกส์ - featured image

รู้ได้อย่างไร ว่าร่างกายเราต้องการโพรไบโอติกส์ ?

วิธีสังเกตอาการผิดปกติ หรืออาการเจ็บป่วยในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเราซึ่งจะปรากฏภายหลังจากโพรไบโอติกส์ลดจำนวนลง ซึ่งมีดังในบทความนี้ค่ะ

อ่านต่อ »