อาการท้องผูกเป็นอาการปกติที่พบได้บ่อยและเป็นปัญหาของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์จำนวนมาก เพราะทำให้รู้สึกไม่สบายตัว อึดอัด ส่งผลต่ออารมณ์ หงุดหงิด และอาจทำให้เกิดความเครียดรวมไปถึงปัญหาสุขภาพขึ้นมาได้ ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรรู้วิธีช่วยบรรเทาอาการท้องผูก โดยเฉพาะการเลือกใช้ยาระบายในระหว่างตั้งครรภ์ที่ต้องระมัดระวัง และเลือกใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งหนึ่งในยาระบายในสตรีมีครรภ์คือ ยาระบายที่เรียกว่าแลคตูโลส (Lactulose) นั่นเองค่ะ
วันนี้ Berlin GI Life จึงได้รวบรวมข้อมูลสำหรับการใช้ยาแลคตูโลส (Lactulose) ที่ปลอดภัย รวมไปถึงข้อควรรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ยาสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์มาฝากกันค่ะ
ทำความรู้จักกับแลคตูโลส (Lactulose)
แลคตูโลส (Lactulose) เป็นน้ำตาลสังเคราะห์ที่ใช้รักษาอาการท้องผูก ทำมาจากน้ำตาลแลคโตสในนม ประกอบไปด้วยน้ำตาลโมเลกุลคู่ (Disaccharide) 2 ชนิด คือกาแลคโตสและฟรุกโตส ซึ่งในลำไส้เล็กของมนุษย์นั้นไม่มีเอนไซม์ที่สามารถย่อยแลคตูโลสได้ ดังนั้น แลคตูโลสจะผ่านเข้าสู่ลำไส้ใหญ่และถูกย่อยสลายโดยแบคทีเรียภายในลำไส้ กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (Monosaccharides) จากนั้นกลายเป็นกรดไขมันระเหยง่าย ไฮโดรเจน และมีเทน
กระบวนการที่เกิดจากการย่อยสลายน้ำตาลในลำไส้ใหญ่นี้ ทำให้เกิดฤทธิ์เป็นยาระบายด้วยการดูดน้ำจากร่างกายเข้ามาสู่ลำไส้ใหญ่ ส่งผลให้อุจจาระนิ่มลงและเคลื่อนตัวไปตามลำไส้ใหญ่ได้ง่ายขึ้น จึงกระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายและช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้นั่นเอง
โดยทั่วไปแล้วยาแลคตูโลสที่ใช้สำหรับรักษาอาการท้องผูกจะอยู่ในรูปแบบของยาน้ำ ซึ่งในการรับประทานควรจะปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากสั่งยาและตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
แลคตูโลส (Lactulose) กับคุณแม่ตั้งครรภ์
องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้มีการจัดหมวดหมู่ยาตามความปลอดภัยในการใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์ โดยแบ่งออกเป็นห้าหมวดหมู่ คือ A, B, C, D และ X โดยเริ่มจากความเสี่ยงน้อยสุดไปยังความเสี่ยงมากสุด เพื่อใช้จำแนกความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับทารกในครรภ์เมื่อมีการใช้ยาในระหว่างตั้งครรภ์
แลคตูโลสถูกกำหนดให้เป็นยาระบายสำหรับการตั้งครรภ์ประเภท B คือเป็นยาที่ปลอดภัยสำหรับคนท้องที่ปลอดภัย แต่ควรใช้เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น
จากการศึกษาในสัตว์ตั้งท้องที่ได้รับแลคตูโลส ถึงแม้ว่าจะพบปัญหาในสัตว์บางตัว แต่ก็ยังไม่พบปัญหาใด ๆ ในสตรีมีครรภ์ที่ได้รับแลคตูโลส และยังไม่พบอันตรายที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาแลคตูโลสในสตรีให้นมบุตรอีกด้วย
การใช้แลคตูโลส (Lactulose) ในคุณแม่ตั้งครรภ์
อาการท้องผูกในระหว่างตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ การใช้ยาในระหว่างตั้งครรภ์จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงความปลอดภัยของการใช้ยาเป็นหลัก เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับพัฒนาการของทารกในครรภ์
การใช้แลคตูโลสในระหว่างตั้งครรภ์ ถึงแม้จะเป็นยาที่มีความปลอดภัย แต่ถ้าหากต้องมีการใช้ยาระบายชนิดนี้ ควรปรึกษาแพทย์และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ซึ่งปริมาณแลคตูโลสที่แพทย์แนะนำจะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ หลายด้าน เช่น น้ำหนัก อายุ ส่วนสูง โรคประจำตัว การตอบสนองต่อยา อายุครรภ์ ยาอื่น ๆ ที่ใช้อยู่ และขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการท้องผูก โดยทั่วไปแล้วจะอยู่ในปริมาณ 10 ถึง 45 มล. ต่อวัน และแพทย์จะทำการปรับขนาดยาเพื่อให้ได้ผลตามที่ต้องการ โดยในการใช้ครั้งแรกอาจใช้เวลาประมาณ 48 ชั่วโมงจึงจะกระตุ้นให้เกิดการขับถ่าย
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้แลคตูโลส (Lactulose)
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาแลคตูโลส โดยทั่วไปแล้วขึ้นอยู่กับสภาพลำไส้ของแต่ละคน และปริมาณของยาที่ใช้ โดยอาการที่พบส่วนใหญ่คือท้องอืด ท้องเสีย คลื่นไส้ แต่ถ้าหากมีอาการที่ผิดปกติหรือรุนแรง เช่น ปวดท้อง เป็นตะคริว อาเจียน ควรหยุดใช้ยาแล้วพบแพทย์ทันที
ความเสี่ยงอันตรายของทารกในแต่ละช่วงอายุครรภ์
ทุกช่วงอายุครรภ์ของทารกล้วนแล้วแต่มีความสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น โดยความเสี่ยงอันตรายของทารกในแต่ละช่วงอายุครรภ์สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ไตรมาส ดังนี้
- ไตรมาสที่ 1 ช่วงเริ่มตั้งครรภ์หรือ 3 เดือนแรกที่เริ่มตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่มีความสำคัญมากเนื่องจากเป็นช่วงที่เริ่มมีการสร้างอวัยวะต่าง ๆ ของทารก ดังนั้น จึงเป็นช่วงที่สามารถเกิดผลกระทบทำให้ทารกนั้นเกิดความพิการอย่างรุนแรงขึ้นมาได้ ซึ่งความพิการที่เกิดขึ้นนั้นขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของยาที่ได้รับ
- ไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงระหว่างเดือนที่ 4-6 ของการตั้งครรภ์ ในระยะนี้ผลกระทบที่เกิดจากยาต่อการสร้างอวัยวะมีค่อนข้างน้อย ซึ่งอาจไม่ปรากฏความพิการที่มีความชัดเจนแต่อาจส่งผลกระทบในเรื่องของความสมบูรณ์และการทำงานของอวัยวะนั้น ๆ
- ไตรมาสที่ 3 หรือไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ เป็นช่วงที่มีอายุครรภ์ 7-9 เดือน การใช้ยาในช่วงนี้อาจส่งผลกระทบทำให้อวัยวะที่สร้างขึ้นมาทำงานได้ไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบไปจนถึงภายหลังจากทารกคลอดออกมาแล้ว รวมไปถึงอาจส่งผลทำให้เกิดอาการแพ้ยาในอนาคตของทารกอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าการใช้ยาต่าง ๆ ในทุกช่วงอายุครรภ์ ต่างก็มีความเสี่ยงและเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ด้วยกันทั้งนั้น โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ดังนั้น จึงไม่ควรใช้ยาเองโดยพลการ ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกรโดยเคร่งครัดเพื่อความปลอดภัย ว่ายาตัวไหนที่หญิงตั้งครรภ์สามารถใช้ได้ ยาตัวไหนที่ควรหลีกเลี่ยง และควรรับประทานอย่างไรถึงจะเหมาะสม เพราะมียาหลายชนิดที่สามารถ ผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์ จนอาจทำให้เด็กที่เกิดมามีความพิการและมีความผิดปกติได้นั่นเองค่ะ
ข้อควรปฏิบัติในการใช้ยาระบายเพื่อความปลอดภัยในสตรีมีครรภ์
- รักษาสุขภาพไม่ให้เจ็บป่วยเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาให้ได้มากที่สุด
- ในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาให้ได้มากที่สุด หากเป็นไปได้ไม่ควรใช้ยาใด ๆ ในช่วงนี้
- ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการใช้ยา ควรใช้ในปริมาณที่น้อยที่สุดและใช้ระยะเวลาสั้นที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น
- การใช้ยาภายนอกสามารถทำได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาบางอย่างที่สามารถดูดซึมเข้าไปในร่างกายได้
- การใช้ยาที่ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบร่างกาย หรือถูกดูดซึมได้เพียงเล็กน้อย สามารถใช้ได้โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ อย่างเช่น การใช้แลคตูโลส เพื่อบรรเทาอาการท้องผูก ยาระบายที่ช่วยเพิ่มกากทางเดินในอาหาร เป็นต้น
- ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยในการใช้ยาแนะนำให้ปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ที่ทำการฝากครรภ์
- ไม่ควรซื้อวิตามินหรืออาหารเสริมมารับประทานเองในช่วงตั้งครรภ์ เพราะหากได้รับวิตามินบางชนิดสูงเกิน เช่น วิตามินเอ อาจส่งผลทำให้ทารกในครรภ์พิการได้
สรุป
สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์แล้วมีอาการท้องผูก แนะนำให้เลือกใช้วิธีอื่น ๆ เพื่อบรรเทาอาการท้องผูกเสียก่อน เช่น การรับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงให้มากขึ้น การรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ (Probiotics) เพื่อช่วยปรับสมดุลของจุลินทรีย์ภายในลำไส้ ดื่มน้ำมาก ๆ วันละ 10-12 แก้ว ออกกำลังกายเบา ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ จากนั้นถึงเลือกการใช้ยาระบายเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งการใช้แลคตูโลสเป็นยาที่ปลอดภัยสำหรับคนท้องเพื่อบรรเทาอาการท้องผูก ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ค่ะ
สุขภาพดีเริ่มต้นที่ทางเดินอาหารนะคะ
Berlin GI Life