ปัญหาสุขภาพของคนเรานอกจากเรื่องการเจ็บไข้ ได้ป่วยทั่วไปแล้ว อาการท้องผูกก็เรียกได้ว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่อาจจะมองข้ามไปได้เลย เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราท้องผูกจนต้องไปหาหมอแล้วล่ะก็นั่นแสดงว่าระบบทางเดินอาหารและลำไส้ของคุณกำลังมีปัญหาอย่างแน่นอน แล้วสาเหตุของอาการท้องผูกจริง ๆ แล้วเกิดจากอะไร มีวิธีป้องกัน และแก้ไขอย่างไร
บทความนี้ Berlin GI Life มีข้อมูลดี ๆ ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจและรับมือกับอาการท้องผูกไปพร้อม ๆ กันค่ะ

ท้องผูกคืออะไร เกิดจากอะไร
ท้องผูก (Constipation) คือภาวะการถ่ายยาก ถ่ายลำบาก อุจจาระมีลักษณะแห้ง แข็ง เวลาจะถ่ายแต่ละครั้งต้องใช้แรงเบ่ง บางคนถึงกับเหงื่อตก เบ่งกันหน้าดำหน้าแดงเลยทีเดียว
อาการท้องผูกเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น
สุขนิสัยในการกินอาหาร
อาหารที่รับประทาน
การขับถ่าย
การออกกำลังกาย
อาการเจ็บป่วย
ความเครียด
คุณแม่ตั้งครรภ์
การลดน้ำหนักแบบผิด ๆ
รวมถึงการรับประทานยาระบายติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ
ทั้งนี้อาการท้องผูกสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย โดยมักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย รวมถึงผู้สูงอายุที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไปก็มักจะมีปัญหานี้เช่นเดียวกันค่ะ
อาการท้องผูก
พฤติกรรมในการขับถ่ายของแต่ละคนมีความแตกต่างกัน บางคนก็เรียกได้ว่าลำไส้ตรง กินปุ๊บ ต้องเข้าห้องน้ำปั๊บ บางคนก็เข้าห้องน้ำบ่อย 2-3 ครั้งต่อวัน หรือบางคน 3 วันถ่ายที แต่ถ้าถ่ายง่าย ถ่ายคล่อง อึไม่แข็งเกินไปก็เรียกว่ายังอยู่ในภาวะปกติ
แต่หากต้องใช้เวลาเข้าห้องน้ำนาน ๆ ต้องใช้แรงเบ่งสุด ๆ ในการถ่าย อึออกมาเป็นก้อน ๆ เม็ด ๆ อึเสร็จแล้วก็ยังรู้สึกเหมือนยังไม่สุด ยังปวด ๆ หน่วง ๆ ตรงบริเวณทวารหนัก อันหลังนี้เข้าข่ายว่าเป็นอาการท้องผูกค่ะ
ในบางรายอาจจะต้องใช้ยาระบายช่วยเพื่อให้ถ่ายคล่องและสบายท้อง และบางรายอาจต้องใช้น้ำหรือนิ้วช่วยเพื่อให้อึออกมาอย่างสะดวก
สาเหตุของอาการท้องผูก
หน้าที่หลักของลำไส้ใหญ่ก็คือการดูดซึมน้ำและสารอาหารบางชนิด และขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายในรูปแบบของอุจจาระ แต่หากถ่ายไม่ออกและอุจจาระตกข้างในลำไส้นานเกินไปก็จะเกิดการแข็งตัว ทำให้ถ่ายยาก และเกิดอาการท้องผูก
เรามาดูกันว่าอะไรบ้างที่เป็นสาเหตุของการท้องผูก
- การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย และดื่มน้ำน้อย
- เคลื่อนไหวร่างกายน้อย ไม่ค่อยชอบออกกำลังกาย
- ภาวะความเครียด ความวิตกกังวล
- การทำงานของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ มีการบีบตัวของลำไส้น้อยลง รวมถึงโรคลำไส้ทำงานแปรปรวน (irritable bowel syndrome)
- การใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลต่อการขับถ่าย ทำให้ท้องผูก อาทิเช่น ยาลดความดันโลหิต ยาแก้ปวดในกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เช่น มอร์ฟีน (morphine), เมธาโดน (methadone), เฟนตานีล (fentanyl), เมพเพริดีน (meperidine), ทรามาดอล (tramadol) เป็นต้น หรือยารักษาอาการซึมเศร้า ยารักษาโรคพวกพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ ลดกรดที่มีส่วนผสมของแคลเซียม หรืออะลูมิเนียม เป็นต้น
- การกลั้นอุจจาระบ่อย ๆ
- การเดินทาง หรือความเปลี่ยนแปลงในการใช้ชีวิตประจำวัน
- การตั้งครรภ์
- อาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายโดยตรง อาทิเช่น ลำไส้ตีบ ไส้ตรงอักเสบ โรคมะเร็ง โรคริดสีดวง และแผลปริที่ขอบทวารหนัก
- ความผิดปกติ หรือโรคที่ไม่ได้เกี่ยวข้องหรือเกิดขึ้นกับลำไส้โดยตรง ไม่ว่าจะเป็น ความผิดปกติทางเมแทบอลิซึม เช่นแคลเซียมในเลือดสูง, แคลเซียมในเลือดต่ำ, ไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ, พาราไทรอยด์ฮอร์โมนสูง เป็นต้น, โรคทางระบบประสาท อาทิเช่นโรคพาร์กินสัน,โรคของประสาทไขสันหลัง,โรคของประสาทอัตโนมัติ เป็นต้น
- การทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดไม่สัมพันธ์กับการเบ่งในการขับถ่าย เช่นในขณะที่เรากำลังเบ่งกล้ามเนื้อหูรูดกลับขมิบทำให้ไม่สามารถขับถ่ายได้ตามปกติ
วิธีแก้ท้องผูก
อาการท้องผูกถึงแม้จะไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรงแต่ก็ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพหลาย ๆ อย่าง ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นอาการอืดท้อง แน่นท้อง ไม่สบายเนื้อสบายตัว รวมถึงความเครียดเป็นต้น
วิธีแก้ท้องผูกสามารถทำได้ทั้งแบบไม่ต้องใช้ยา และแบบต้องขอตัวช่วยเป็นยาระบาย อาทิเช่น
วิธีแก้ท้องผูกแบบไม่ใช้ยา
- รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช รำข้าวสาลี เป็นต้น และควรรับประทานอาหารเช้าภายใน 1 ชั่วโมงหลังตื่นนอนซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับถ่ายได้ดี
- ควรดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกายที่ต้องการ (วันละ 6-8 แก้ว หรือประมาณ 1.5-2 ลิตร ต่อวัน) รวมถึงลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ ชา และกาแฟลงเพราะการได้รับคาเฟอีนในปริมาณมากจะทำให้ร่างกายขาดน้ำ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที หรือ 5 ครั้งต่อ สัปดาห์ ไม่ควรนั่งหรือนอนเป็นเวลานาน ๆ ควรลุกเดินหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ บ้าง เพื่อร่างกายและลำไส้จะได้มีการเคลื่อนไหว
- เมื่อรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระ ควรเข้าทันทีไม่ควรกลั้น หรือรอช้าเพราะจะทำให้อุจจาระแข็งตัว
- ทำใจให้สบาย เครียดให้น้อยลง
วิธีแก้ท้องผูกแบบใช้ยาระบาย
เมื่อเราได้ลองทำตามวิธีที่บอกไปเบื้องต้นไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย หรือปรับพฤติกรรมต่าง ๆ รวมถึงปรับอาหารการกินแล้วก็ยังไม่เวิร์ค คราวนี้อาจจะต้องพึ่งยาระบายค่ะ ซึ่งยาระบายสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
ยาระบายชนิดเพิ่มปริมาณอุจจาระ (bulk-forming laxatives)
เป็นยาระบายชนิดที่เพิ่มไฟเบอร์หรือใยอาหารให้กับลำไส้ใหญ่ ทำให้ลำไส้ใหญ่ขยาย ส่งผลกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวและเกิดการขับถ่าย ยาระบายประเภทนี้มีความปลอดภัยสูง หากใช้ถูกวิธี
ยาระบายชนิดเพิ่มน้ำในลำไส้ (osmotic laxatives)
ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ดึงน้ำไว้ในช่องลำไส้ใหญ่โดยวิธีออสโมซิส (osmosis) ช่วยให้อุจจาระนุ่มและผ่านสำไส้ใหญ่ได้ดีขึ้น แต่การใช้ยาระบายบางตัวในกลุ่มนี้เป็นเวลานานจะเสี่ยงต่อการขาดสารอาหาร และการเสียสมดุลของระบบขับถ่ายได้
ยาระบายชนิดกระตุ้นการทำงานของลำไส้ (stimulant laxatives)
ยาระบายในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์กระตุ้นให้ลำไส้บีบตัว เพิ่มการหลั่งของเหลวสู่ภายในลำไส้ ลดการดูดซึมน้ำที่ลำไส้ใหญ่ และเร่งการบีบไล่กากอาหาร ยาในกลุ่มนี้มีฤทธิ์แรงและออกฤทธิ์ได้เร็ว แต่ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นเวลานาน เนื่องจากเสี่ยงต่อการเกิดลำไส้ขี้เกียจ ต้องพึ่งยาระบายเท่านั้น จนต้องเพิ่มปริมาณยาขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้เกิดการขับถ่าย
ยาระบายชนิดทำให้อุจจาระนุ่ม (stool softeners)
ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ดึงน้ำเข้ามาในก้อนอุจจาระโดยลดแรงตึงผิวอุจจาระ (detergent-like action) ทำให้อุจจาระเหลวและขับถ่ายง่าย ใช้ได้ผลลัพธ์ที่ดีในกรณีที่อุจจาระเป็นก้อนแข็ง แต่ก็มีข้อมูลการศึกษาด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาในระยะยาวมีน้อยค่ะ
สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ และผู้หญิงที่ให้นมลูกที่มีอาการท้องผูกและจำเป็นต้องใช้ยา สามารถใช้ยาระบายกลุ่มต่าง ๆ ได้ ตามลำดับข้างต้น แต่ไม่แนะนำให้ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานาน และไม่แนะนำให้ใช้ยาระบายชนิดสวนทวาร รวมถึงการใช้ยาระบายบ่อยเกินไปเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสมดุลอิเล็กโทรไลต์ของทารกหลังคลอดได้ค่ะ
อย่างไรก็ตามการใช้ยาระบายก็ไม่ควรใช้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพราะอาจจะทำให้ถ่ายยากกว่าเดิมเมื่อหยุดใช้ยาระบายค่ะ
แล้วเราสามารถป้องกันท้องผูกอย่างไร
อาการท้องผูกถึงแม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็ทำให้เกิดความไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว อึดอัด และแน่นท้อง ถ้าคุณต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ ก็ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยให้มากขึ้น ดื่มน้ำให้มาก ๆ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอค่ะ
ปัญหาเรื่องท้องผูกสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะเมื่อมีอายุมากขึ้น อย่างไรก็ตามอาการท้องผูกสามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง โดยการปรับพฤติกรรมในการเลือกรับประทานอาหารที่ช่วยเพิ่มกากใย หรือไฟเบอร์ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย แต่หากยังถ่ายไม่ออก จำเป็นต้องใช้ยาระบายก็ใช้เพียงแค่บางครั้งบางคราวเท่านั้น
หากพบว่าอาการท้องผูกไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรักษาจะดีที่สุดค่ะ
ซึ่งการรักษาดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับอาการและระดับของการท้องผูก อาทิเช่น การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ การเอ็กซเรย์ช่องท้อง การประเมิณการทำงานของกล้ามเนื้อหูรูด และในบางรายอาจจะต้องผ่าตัดลำไส้ใหญ่เป็นต้น
เห็นได้ว่าปัญหาท้องผูกถึงแม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่ก็ให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาดังนั้นอย่าละเลยที่จะดูแลระบบขับถ่ายของเราด้วยนะคะ
สุขภาพดีเริ่มต้นที่ทางเดินอาหารค่ะ
Berlin GI Life
ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล