อาการท้องผูกในช่วงตั้งครรภ์และการใช้แลคตูโลสอย่างปลอดภัย

อาการท้องผูกในช่วงตั้งครรภ์และการใช้แลคตูโลสอย่างปลอดภัย

ภาวะท้องผูกในช่วงตั้งครรภ์ (Gestational constipation) เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อย มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในทุกระยะการตั้งครรภ์ และมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งคุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์ครั้งแรกหรือตั้งครรภ์มากกว่า 1 ครั้ง ซึ่งอาการท้องผูกในระหว่างตั้งครรภ์นั้นเป็นปัญหาที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกายและจิตใจ และหนึ่งในวิธีการรักษาอาการท้องผูกที่ได้ผลเร็ว คือการใช้ยาระบาย แต่การใช้ยาในระหว่างตั้งครรภ์ก็มีข้อควรระวังเป็นอย่างมากเพราะอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกได้ 

บทความนี้ Berlin GI Life ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาการท้องผูกในระหว่างตั้งครรภ์ และการเลือกใช้ยาระบายอย่างเช่น แลคตูโลส (Lactulose) เพื่อบรรเทาอาการท้องผูกในช่วงตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยมาฝากกันค่ะ 

ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะท้องผูกในช่วงตั้งครรภ์

อาการท้องผูกในช่วงที่ตั้งครรภ์นั้น ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยหลายด้าน ดังนี้ 

  • ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ ทำให้ลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่มีการเคลื่อนไหวน้อยลง ทำให้กากอาหารอยู่ในลำไส้นานขึ้นและถูกดูดน้ำกลับไปมากขึ้น อีกทั้งยังเข้าไปยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนที่ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อเรียบในลำไส้ และกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้มีการดูดซึมน้ำในลำไส้เพิ่มสูงขึ้น อุจจาระจึงแห้งแข็งและขับถ่ายลำบากมากกว่าปกติ
  • พฤติกรรมต่าง ๆ ในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย การดื่มน้ำไม่เพียงพอ มีการเคลื่อนไหวน้อยลง การกลั้นอุจจาระบ่อย ๆ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ทำให้ปฏิกิริยาของการขับถ่ายอุจจาระที่สมควรเกิดขึ้นตามปกตินั้นผิดเพี้ยนไป จนทำให้เกิดภาวะท้องผูกขึ้นมาได้ นอกจากนี้ยังพบว่าการรับประทานอาหารเสริมธาตุเหล็กในระหว่างตั้งครรภ์ สามารถส่งผลให้เกิดภาวะท้องผูก และยังทำให้อาการท้องผูกรุนแรงขึ้นในผู้ที่มีอาการท้องผูกอยู่ก่อนแล้วอีกด้วย
  • การเปลี่ยนแปลงของร่างกายในขณะตั้งครรภ์ เมื่อตั้งครรภ์ขนาดของมดลูกจะเติบโตขึ้น ซึ่งจะขัดขวางการเคลื่อนที่ของอุจจาระในลำไส้ ทำให้สามารถเกิดอาการท้องผูกได้ง่ายขึ้นนั่นเอง โดยพบข้อสังเกตว่าเมื่อทารกในครรภ์มีการเจริญเติบโตมากขึ้น ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะท้องผูกได้มากขึ้น เนื่องจากน้ำหนักของมดลูกที่เพิ่มขึ้นนั้นทำให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหูรูดที่อยู่ด้านนอกทวารหนักเกิดความเสียหาย ส่งผลให้การขับถ่ายมีประสิทธิภาพลดลงจนเกิดอาการท้องผูกขึ้นมาได้ 

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากอาการท้องผูกในช่วงตั้งครรภ์

ถึงแม้ว่าอาการท้องผูกนั้นจะไม่เกิดอันตรายที่รุนแรงมากนัก แต่ก็เป็นอาการที่ไม่ควรมองข้าม เพราะสามารถส่งผลกระทบต่อทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ และอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์ขึ้นมาได้เช่นกัน

  • ผลกระทบทางด้านร่างกาย อาการท้องผูกทำให้คุณภาพชีวิตของคุณแม่ตั้งครรภ์นั้นลดลง เพราะทำให้เกิดความทุกข์ทรมานในขณะขับถ่าย ไม่ว่าจะเป็นการออกแรงเบ่ง รู้สึกขับถ่ายไม่สุด ปวดมวนท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย รู้สึกเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น รู้สึกปวดบริเวณทวารหนัก โดยพบว่าอาการท้องผูกในสตรีตั้งครรภ์นั้นสามารถเพิ่มความรุนแรงจนทำให้เป็นริดสีดวงทวารหนักได้
  • ผลกระทบทางด้านจิตใจ จากความไม่สบายตัวของร่างกายที่เกิดขึ้นเมื่อมีอาการท้องผูก ทำให้รู้สึกว่าภาพลักษณ์ของตนเองเป็นไปในด้านลบ ไม่อยากเข้าสังคม จิตใจไม่เบิกบาน นำไปสู่ความวิตกกังวลจนเป็นสาเหตุทำให้นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ และเกิดความเครียดขึ้นมาได้  

การรักษาอาการท้องผูกในช่วงตั้งครรภ์โดยไม่ใช้ยา

ถึงแม้ว่าแนวทางที่เห็นผลได้อย่างรวดเร็วในการแก้ปัญหาท้องผูกคือการใช้ยาระบาย แต่ทั้งนี้การใช้ยาต่าง ๆ ในคุณแม่ตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก เนื่องจากยาบางชนิดสามารถส่งผลต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นเมื่อมีอาการท้องผูกหากเป็นไปได้ควรเลือกการใช้ยาระบายเป็นทางออกสุดท้าย 

ซึ่งการรักษาอาการท้องผูกในช่วงตั้งครรภ์โดยไม่ใช้ยา สามารถทำได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์ ด้วยการพยายามรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงให้มากขึ้นในแต่ละมื้อ ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน ออกกำลังกายเบา ๆ พยายามขยับตัวเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น และฝึกขับถ่ายให้เป็นเวลา

การรักษาอาการท้องผูกในช่วงตั้งครรภ์โดยใช้ยา

ยาระบายที่ใช้เพื่อรักษาอาการท้องผูกสำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์ ในกรณีที่ท้องผูกมากจนไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีทางธรรมชาติได้ สามารถแบ่งออกได้เป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้

  • กลุ่มสารหล่อลื่น (Lubricant laxatives) เป็นยาที่ช่วยหล่อลื่นลำไส้และอุจจาระ เพื่อให้อุจจาระสามารถเคลื่อนตัวได้ง่ายขึ้น เช่น Lubiprostone
  • กลุ่มอุ้มน้ำและเพิ่มมวลอุจจาระ (Bulk laxatives) เป็นยาที่ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด มีคุณสมบัติคล้ายกับใยอาหาร ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำและเพิ่มปริมาณอุจจาระเช่น Macrogols, Mucillin, Methylcellulose, Sterculia ทำให้อุจจาระสามารถเคลื่อนผ่านลำไส้ได้ง่ายขึ้น
  • กลุ่มยาที่ดูดซึมน้ำกลับมาในลำไส้ (Osmotic laxatives) เป็นยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์โดยการดูดซึมน้ำกลับเข้ามาในลำไส้ ทำให้อุจจาระนิ่มขึ้นและสามารถถ่ายได้ง่ายขึ้น เช่น แลคตูโลส (Lactulose), Milk of Magnesia (MOM) เป็นกลุ่มที่นิยมใช้สำหรับรักษาอาการท้องผูก
  • กลุ่มยากระตุ้นการเคลื่อนตัวของลำไส้ (Stimulant laxatives) เป็นยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ด้วยการกระตุ้นเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อของระบบทางเดินอาหาร ทำให้ลำไส้เคลื่อนไหวได้เร็วขึ้น และทำให้อุจจาระสามารถเคลื่อนตัวได้ง่ายขึ้น เช่น มะขามแขก, Docusate sodium, Sodium picosulfate เป็นต้น
  • กลุ่มยาที่ทำให้อุจจาระนิ่ม (Stool softeners) เป็นยาที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบ เช่น Arachis oil ทำให้อุจจาระมีความนุ่มลื่นสามารถเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้ง่าย
  • กลุ่มยาสวนอุจจาระและยาเหน็บทวารหนัก (Enemas and suppositories) เป็นการใช้ยาเพื่อกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้และทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น เช่น ยาเหน็บกลีเซอรีน

การใช้แลคตูโลส (Lactulose) ในขณะตั้งครรภ์

แลคตูโลส (Lactulose) เป็นยาระบายที่นิยมใช้เพื่อบรรเทาอาการท้องผูกในขณะตั้งครรภ์ เนื่องจากมีความปลอดภัยสูง โดยถูกกำหนดให้เป็นยาสำหรับการตั้งครรภ์ประเภท B จากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา สามารถใช้แลคตูโลส (Lactulose) ได้โดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ และให้ประสิทธิภาพที่ดีในการกระตุ้นการขับถ่าย แต่ควรใช้ยาระบาย Lactulose เมื่อมีความจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น และควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

แลคตูโลส (Lactulose) รับประทานอย่างไร

โดยทั่วไปแล้วแลคตูโลส (Lactulose) ที่ใช้เป็นยาระบายจะอยู่ในรูปแบบของยาน้ำ สำหรับผู้ที่ตั้งครรภ์ ปริมาณการใช้จะมีความแตกต่างกันออกไปตามแต่ที่แพทย์จะเห็นสมควร ดังนั้นจึงควรรับประทานยาแลคตูโลสตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยสามารถผสมยาแลคตูโลสรวมกับเครื่องดื่มหรืออาหารอื่น ๆ ได้ เพื่อช่วยให้สามารถรับประทานได้ง่ายขึ้น เช่น ผสมกับน้ำเปล่า นม หรือน้ำผลไม้ 

เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว แลคตูโลส (Lactulose) จะใช้ระยะเวลาออกฤทธิ์ภายใน 24-48 ชั่วโมง และเมื่อเปิดขวดยาแลคตูโลสแล้ว ควรปิดฝาให้แน่นแล้วเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้อง ไม่ควรนำไปไว้ในช่องแช่แข็ง ตัวยาแลคตูโลส (Lactulose) อาจมีสีเข้มขึ้นได้บ้างแต่ไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของยา แต่ไม่ควรรับประทานถ้าหากมีสีเข้มมากผิดปกติจนเกินไป

ข้อควรระวังการใช้แลคตูโลส (Lactulose) ในขณะตั้งครรภ์

ถึงแม้ว่าแลคตูโลส (Lactulose) จะเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง และสามารถใช้เพื่อรักษาอาการท้องผูกในขณะตั้งครรภ์ได้อยากมีประสิทธิภาพ แต่ก็มีข้อควรระมัดระวังสำหรับการรับประทานยาแลคตูโลสด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่เป็นเบาหวาน และผู้ที่มีการแพ้น้ำตาลแลคโตส (Lactose intolerance) รวมไปถึงผู้ที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหรือใช้ยาอื่น ๆ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาแลคตูโลสทุกครั้ง

ผลข้างเคียงของการใช้แลคตูโลส (Lactulose)

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปของการใช้แลคตูโลส (Lactulose)ได้แก่ อาการท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน แต่หากมีอาการที่แสดงให้เห็นถึงการแพ้แลคตูโลส (Lactulose) เช่น ผื่นขึ้น หายใจลำบาก มีอาการบวมที่ใบหน้า ลิ้น ริมฝีปาก คอ มีอาการท้องเสียอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ควรหยุดใช้ยาแลคตูโลสทันทีและพบแพทย์โดยด่วน

สรุป

ดังนั้น สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์แล้วมีอาการท้องผูก หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาทุกชนิด ถึงแม้ว่ายาที่ใช้จะมีความปลอดภัยและไม่ส่งผลต่อทารกในครรภ์ก็ตาม ทางที่ดีควรหาวิธีป้องกันและแก้ไขแบบไม่ใช้ยาให้ได้เสียก่อน แต่ในกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และจำเป็นต้องใช้ยาจริง ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพื่อให้คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถรักษาอาการท้องผูกได้อย่างปลอดภัย และไม่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ค่ะ

สุขภาพดีเริ่มต้นที่ทางเดินอาหารนะคะ

Berlin GI Life

Related Articles

บทความที่คุณอาจสนใจ

ลำไส้สุขภาพดีแข็งแรง ด้วยประโยชน์ของไพรไบโอติกส์

ลำไส้สุขภาพดีแข็งแรง ด้วยประโยชน์ของโพรไบโอติกส์

โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร พบได้บ่อยกับทุกเพศทุกวัยในปัจจุบัน Berling GI Life จะพาไปทำความรู้จักกับประโยชน์ของโพรไบโอติกส์ที่มีต่อระบบทางเดินอาหารของเราค่ะ

อ่านต่อ »
นานแค่ไหนกว่าโพรไบโอติกส์ที่กินไปจะเห็นผล - featured image

นานแค่ไหนกว่าโพรไบโอติกส์ที่กินไปจะเห็นผล

จะรู้ได้อย่างไรว่าโพรไบโอติกส์ที่ทานไปนั้นได้ผลจริง ๆ แล้วจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหนจึงจะทำให้โพรไบโอติกส์ที่ทานไปออกดอกออกผล มาไขข้อสงสัยในบทความนี้เลยค่ะ

อ่านต่อ »
รู้ได้อย่างไร ว่าร่างกายเราต้องการโพรไบโอติกส์ - featured image

รู้ได้อย่างไร ว่าร่างกายเราต้องการโพรไบโอติกส์ ?

วิธีสังเกตอาการผิดปกติ หรืออาการเจ็บป่วยในอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเราซึ่งจะปรากฏภายหลังจากโพรไบโอติกส์ลดจำนวนลง ซึ่งมีดังในบทความนี้ค่ะ

อ่านต่อ »