เกิดเป็นผู้หญิงแท้จริงแสนลำบาก นอกจากจะต้องดูแลตัวเองให้สวยใสสุขภาพดีแล้ว ยังต้องเตรียมพร้อมรับมือกับวันแดงเดือดคือช่วงที่ประจำเดือนมาอีก ผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีอาการผิดปกติบางอย่างในช่วงเมนส์มาเพราะฮอร์โมนในช่วงนั้นเปลี่ยนแปลง และคุณทราบมั้ยคะว่า อาการท้องผูกกับประจำเดือนก็เกี่ยวพันกันด้วย ใครกำลังหงุดหงิดใจเป็นเมนส์ทำไมต้องท้องผูกทุกที Berlin GI Life มีคำตอบมาฝากค่ะ
อาการท้องผูกกับประจำเดือน: ท้องผูกในวัยที่ยังมีประจำเดือน
ประจำเดือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเราทุกคนเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป ปกติแล้วผู้หญิงจะมีรอบเดือนห่างกันทุก ๆ 28 – 33 วัน (ขึ้นอยู่กับแต่ละคน) ก่อนช่วงที่ผู้หญิงจะเป็นประจำเดือนเราเรียกอาการที่เรียกว่า PMS หรือ Premenstrual Syndrome คือ อาการผิดปกติที่จะเกิดขึ้นก่อนมีประจำเดือนราว 1 – 2 สัปดาห์ ซึ่งมีปัจจัยสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิงในช่วงก่อนมีประจำเดือนนั่นเอง อาการเหล่านี้บางรายอาจมีอาการปวดท้องน้อย หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน บางคนท้องเสีย และบางคนก็ใช่แล้วค่ะ ท้องผูกนั่นเอง!!
อาการท้องผูกก่อนมีประจำเดือนนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?
สาเหตุเป็นเพราะในช่วงตกไข่ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะลดลง และกล้ามเนื้อเรียบที่อยู่ในระบบย่อยอาหาร ซึ่งปกติแล้วจะทำหน้าที่ช่วยทำให้อึง่ายขึ้นทำงานด้อยประสิทธิภาพลง จึงส่งผลทำให้เกิดอาการท้องผูกได้นั่นเองค่ะ
อาการท้องผูกก่อนประจำเดือนมา เป็นอาการที่สร้างความลำบากทั้งร่างกายและจิตใจให้กับสาว ๆ อย่างมาก เพราะนอกจากจะต้องเผชิญกับความอึดอัดจากการถ่ายยาก ต้องนั่งห้องน้ำนาน ๆ แล้ว สิ่งที่สาว ๆ แทบจะรับไม่ได้เลยก็คือ สภาพร่างของเราก็จะพุงป่องดูเหมือนท้องน้อย ๆ
ในช่วงนี้ Berlin GI Life ขอแนะนำให้ดื่มน้ำเยอะเป็นพิเศษ และควรทานอาหารที่มีไฟเบอร์เยอะ ๆ เพื่อช่วยรักษาสมดุลในการทำงานของลำไส้ค่ะ
อย่างไรก็ตาม อาการท้องผูกกับประจำเดือนในสาว ๆ แต่ละคนอาจจะมีลักษณะที่แตกต่างกัน บางคนท้องผูกมาก บางคนท้องผูกน้อย บางคนทรมานจนรู้สึกอึดอัด บางคนอาจจะเป็นเฉพาะช่วงก่อนมีประจำเดือนเท่านั้น แต่หลายคนหลังมีประจำเดือนแล้วก็ยังคงมีอาการท้องผูกอยู่เพราะระดับฮอร์โมนยังไม่ปกติ เรามาดูวิธีรับมือกับอาการท้องผูกช่วงมีประจำเดือนกันค่ะ
กินยาถ่ายหรือยาระบายตอนเป็นประจำเดือน ได้หรือไม่?
สาว ๆ ที่มีปัญหาท้องผูกในช่วงมีประจำเดือน เป็นปัญหาที่เกิดจากฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงและจะเป็นประจำในทุก ๆ เดือน ดังนั้นวิธีการในการรักษาดูแลควรเริ่มจากการเตรียมพร้อมรับมืออาการท้องผูกในช่วงประจำเดือนมา โดยปรับการทานอาหาร ดื่มน้ำเยอะ ๆ ทานอาหารที่มีไฟเบอร์ หรือกากใยมากเป็นพิเศษเพื่อช่วยปรับสมดุลลำไส้ และอย่าลืมที่จะออกกำลังกายบ้าง
แต่หากวิธีการดังกล่าวไม่ได้ผล และอาการท้องผูกทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายตัว ทุกข์ทรมานกับการต้องนั่งห้องน้ำนาน ๆ และเสี่ยงกับการเป็นโรคริดสีดวงทวาร เราก็สามารถเลือกใช้ยาระบายได้ โดยควรเลือกยาระบายที่มีความปลอดภัยสูง เช่น ยาระบายในกลุ่มที่ช่วยเสริมไฟเบอร์ เติมพรีไบโอติกส์เข้าไปในร่างกายเพื่อให้ถ่ายได้ง่ายขึ้นค่ะ หรือหากสาว ๆ คนไหนที่มีอาการท้องผูกรุนแรง ใช้ยาระบายในกลุ่มที่เติมไฟเบอร์แล้วไม่ได้ผล ก็อาจจะเลือกใช้ยาระบายในกลุ่มเพิ่มน้ำในลำไส้ (osmotic laxatives) ได้ค่ะ
ยาระบายในกลุ่มที่ช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ (bulk-forming laxatives)
เป็นกลุ่มยาระบายที่มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง กลไกการทำงานของยาระบายกลุ่มนี้ คือการรับประทานยาระบายที่มีส่วนผสมของไฟเบอร์ธรรมชาติ เช่น เมล็ดไซเลียม ฮัสก์ เพื่อเข้าไปช่วยเพิ่มไฟเบอร์ในร่างกาย ทำให้กลไกการทำงานของลำไส้มีความสมดุลมากขึ้น ระบบขับถ่ายหรือการถ่ายก็ดีขึ้น ยาระบายในกลุ่มนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาท้องผูกแต่ไม่รุนแรงมาก ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำได้แก่ มิวซิลิน ซึ่งประกอบด้วย อิสพากูห์ลา ฮัสค์ เส้นใย (ไฟเบอร์) ที่ละลายน้ำได้ 85% มีคุณสมบัติที่พองตัวได้สูงจึงกระตุ้นการขับถ่าย ช่วยให้กากอาหารและสิ่งที่อยู่ในลำไส้เคลื่อนผ่านออกไปเป็นอุจจาระได้ง่ายขึ้น
ยาระบายชนิดเพิ่มน้ำในลำไส้ (osmotic laxatives)
ยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ดึงน้ำไว้ในช่องลำไส้ใหญ่โดยวิธีออสโมซิส (osmosis) ช่วยให้อุจจาระนุ่มและผ่านสำไส้ใหญ่ได้ดีขึ้น ยาระบายในกลุ่มนี้ เหมาะสำหรับสาว ๆ ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มแรกแล้ว อาจจะยังไม่ได้ผล เนื่องจากมีอาการท้องผูกค่อนข้างมาก จำเป็นต้องใช้การเพิ่มน้ำในลำไส้เข้ามาช่วย ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ ได้แก่ Hepalac ซึ่งมีกลไกการทำงานด้วยการใช้ แลคตูโลส ที่มีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกส์ซึ่งถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลําไส้ใหญ่เกิดเป็นกรดอินทรีย์ซึ่งจะดูดน้ำเข้ามาในอุจจาระ ช่วยให้อุจจาระมีลักษณะอ่อนนุ่มและยังสามารถกระตุ้นให้ลําไส้ใหญ่มีการเคลื่อนไหวดีขึ้น
อาการท้องผูกกับประจำเดือน: ท้องผูกในวัยหมดประจำเดือน
สำหรับสาวใหญ่วัยหมดประจำเดือน หรือที่เราเรียกกันว่าวัยทอง (Menopause) นั้น สาว ๆ อาจจะเจอกับอาการท้องผูกที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนภายในร่างกายเช่นกัน เพราะช่วงวัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน เป็นช่วงที่เรากำลังเปลี่ยนผ่านจากวัยเจริญพันธ์ไปสู่การเป็นผู้สูงอายุ ในช่วงวัยนี้ฮอร์โมนเพศจะลดน้อยลงซึ่งอาจจะส่งผลต่ออาการท้องผูกในกลุ่มผู้ใหญ่วัยทอง ดังนี้ค่ะ
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ส่งผลต่อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รวมทั้งระบบย่อยอาหาร เพราะฮอร์โมนเอสโตรเจน มีหน้าที่หลายอย่างรวมถึงการรักษาระดับคอร์ติซอลให้ต่ำ (คอร์ติซอลเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด) เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้ระดับคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น ความเครียดเพิ่มขึ้นส่งผลให้กระบวนการย่อยอาหารช้าลง ระยะเวลาในการย่อยอาหารนานขึ้น ทำให้การขับถ่ายในวัยหมดประจำเดือนเป็นไปได้ยากขึ้นค่ะ
- ในช่วงวัยหมดประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทำให้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนน้อยลง เมื่อโปรเจสเตอโรนน้อยเกินไป ก็ส่งผลให้กระบวนการทำงานของลำไส้ช้าลง เศษอาหารตกค้างเหลืออยู่ในลำไส้ของคุณนานขึ้น ทำให้อึเป็นก้อนแข็ง ขับถ่ายได้ยากค่ะ
- ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนบางคนก็มีกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานที่อ่อนแอลง ซึ่งจะทำให้การกำจัดอุจจาระทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออุจจาระแข็งและแห้ง
- เมื่อผู้หญิงมีอายุมากขึ้น อาจจะมีโรคประจำตัวบางอย่างตามวัย และการทานยารักษาโรคประจำตัวนั้น ๆ อาจจะส่งผลให้เกิดอาการท้องผูก เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด อาหารเสริมธาตุเหล็ก ยาไทรอยด์ ยากลุ่มจิตเวช เป็นต้น
- เมื่อผู้หญิงสูงวัยขึ้น การเคลื่อนไหวเพื่อการออกกำลังกายมักจะลดลง ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ง่ายอีกด้วยค่ะ
- อาการท้องผูกเป็นครั้งคราว ถือเป็นเรื่องปกติในวัยหมดประจำเดือน โดยทั่วไปหากขับถ่ายได้มากกว่า 3 ครั้งภายใน 1 สัปดาห์ ก็ถือว่าสุขภาพของระบบขับถ่ายยังคงปกติ แต่หากขับถ่ายได้น้อยกว่า 3 ครั้ง ใน 1 สัปดาห์ ถือว่าเริ่มมีอาการท้องผูก และหากมีอาการเช่นนี้เรื้อรังกินเวลานานมากกว่าสามเดือนหรือนานกว่านั้นหมายถึงมีภาวะท้องผูกเรื้อรัง จำเป็นต้องได้รับการดูแลพิเศษ เพื่อลดอาการท้องผูกนะคะ
- วัยของการหมดประจำเดือนนั้น กินช่วงเวลาที่ยาวนาน การเข้าสู่วัยทองประจำเดือนจะมาเร็วขึ้น หรือมาทุก ๆ 3 สัปดาห์ ก่อนจะทิ้งระยะห่างเป็น 1 ปี ทั้งนี้ระยะวัยใกล้หมดประจำเดือนนี้อาจกินเวลานานเป็นปีเลยทีเดียว เตรียมตัวให้พร้อมในการดูแลสุขภาพของระบบขับถ่ายในช่วงวัยทองนะคะ

สรุป
จะเห็นได้ว่า อาการท้องผูกกับประจำเดือน มีความเกี่ยวพันเชื่อมโยงกันอย่างมากเลยนะคะ สาว ๆ ที่กำลังกังวลว่า ดื่มน้ำก็เยอะแล้ว ทานไฟเบอร์แทบจะยกสวนผักมาวางบนโต๊ะอาหารแล้ว ทำไมยังท้องผูกในช่วงมีประจำเดือน ก็คงจะพอเข้าใจแล้วนะคะว่า สาเหตุอาจจะมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศทั้งในช่วงมีประจำเดือนและช่วงวัยของการหมดประจำเดือน
รู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าลืมเตรียมพร้อมรับมือกับอาการท้องผูกที่จะเกิดขึ้น หากอาการท้องผูกมีอาการรุนแรงจำเป็นต้องเลือกใช้ยาระบายก็ควรเลือกใช้กลุ่มยาที่มีความปลอดภัยสูง และควรใช้ร่วมกับการปรับพฤติกรรมการกิน การออกกำลังกายของเราเพื่อสุขภาพที่ดีด้วยนะคะ
เพราะสุขภาพดีเริ่มต้นที่ทางเดินอาหาร
Berlin GI Life