บทความนี้ Berlin GI Life จะพาทุกคนไปรู้จักกับ “แลคตูโลส” (Lactulose) ยาระบายแก้ท้องผูกชนิดน้ำที่เหมาะกับทุกวัย เพื่อที่ทุกคนจะได้เลือกใช้ยาระบายชนิดนี้ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยกันนะคะ
ภาวะท้องผูกเรื้อรัง (Chronic constipation) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในทุกช่วงวัย อาการท้องผูกนั้นมีความสัมพันธ์กับระบบสุขภาพต่าง ๆ ของร่างกายอย่างมาก ดังนั้น การดูแลรักษาเพื่อลดอาการท้องผูก จึงมีความจำเป็น โดยจะเน้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่หากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่เพียงพอก็ต้องใช้ยาในกลุ่มยาระบายเป็นตัวช่วย ซึ่งการเลือกใช้ยาระบายนั้น จำเป็นจะต้องเลือกใช้ยาในกลุ่มที่มีความปลอดภัยสูงและเหมาะสมกับอาการ ใช้ระยะยาวหรือต่อเนื่องแล้วส่งผลกระทบต่อร่างกายน้อยที่สุด
ยาแลคตูโลส (Lactulose) คืออะไร
แลคตูโลส เป็นน้ำตาลชนิดโมเลกุลคู่ (Disaccharide) ของฟรุคโตสและกาแลคโตส เป็นยาที่ออกฤทธิ์ ได้หลากหลายกลไก (Multimechanism) สำหรับรักษาอาการท้องผูกเรื้อรัง และช่วยปรับสมดุล ทำให้ร่างกายรักษาสมดุลการขับถ่ายในระยะยาว มีคุณสมบัติที่ช่วยรักษาอาการท้องผูกเรื้อรัง ดังนี้
- Lactulose มีคุณสมบัติของน้ำตาลชนิดโมเลกุลคู่ ชนิดไม่ถูกย่อยและถูกดูดซึมในทางเดินอาหาร โดยผ่านกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กในรูปแบบไม่เปลี่ยนแปลง
- ในบริเวณลำไส้ใหญ่ Lactulose จะถูกย่อยโดยแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ทำให้ได้เป็นกรดไขมันสายสั้น (short-chain fatty acid) จึงมีความเป็นกรดเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสภาวะที่เพิ่มการดูดน้ำเข้ามาในโพรงลำไส้ใหญ่ จึงช่วยกระตุ้นการเคลื่อนตัวของลำไส้ ทำให้ขับถ่ายได้สะดวกขึ้น
- Lactulose จัดอยู่ในยาระบายกลุ่มเพิ่มน้ำในลำไส้ (Osmotic laxatives) ซึ่งยาในกลุ่มนี้
ออกฤทธิ์ดึงน้ำไว้ในช่องลำไส้ใหญ่โดยวิธีออสโมซิส (Osmosis) ช่วยให้อุจจาระนุ่มและผ่านสำไส้ใหญ่ได้ดีขึ้น ยาระบายในกลุ่มนี้มีความปลอดภัยสูง (หากใช้ถูกวิธี) เหมาะสำหรับทุกคน รวมถึงเด็ก ๆ ที่มีปัญหาท้องผูก ผู้สูงวัย และคุณแม่ตั้งครรภ์ ที่มีปัญหาท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งยาระบายในกลุ่มเพิ่มปริมาณอุจจาระ อาจจะมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้การเพิ่มน้ำในลำไส้เข้ามาช่วยด้วย - Lactulose มีคุณสมบัติเป็น Prebiotics (พรีไบโอติกส์) คือ เป็นสารอาหารที่สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโต และการทำงานของ Probiotics ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้
Prebiotics (พรีไบโอติกส์) คืออะไร นอกจากช่วยขับถ่ายแล้ว ช่วยอะไรได้บ้าง
ตามข้อมูลข้างต้น เราทราบแล้วว่า Lactulose คือพรีไบโอติกส์ ซึ่งมีส่วนช่วยในการขับถ่าย คำถามต่อมาคือ แล้วเจ้า Prebiotics (พรีไบโอติกส์) ที่ได้ยินชื่อกันบ่อย ๆ นี้คืออะไร มีส่วนช่วยในการขับถ่ายอย่างไร ทานไปแล้วได้ประโยชน์ต่อร่างกายในส่วนอื่น ๆ ด้วยหรือไม่ Berlin GI Life ขอขยายความในส่วนนี้เพื่อความเข้าใจมากขึ้นค่ะ
Prebiotics (พรีไบโอติกส์) คือไฟเบอร์ชนิดหนึ่งที่ได้มาจากน้ำตาลธรรมชาติ เป็นสิ่งไม่มีชีวิตซึ่งร่างกายไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้เอง แต่จะสามารถถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ ซึ่งเป็นจุลินทรีย์ชนิดดี
โดยพรีไบโอติกส์นี้ สามารถพบได้ในหัวหอม กระเทียม ถั่วเหลือง ถั่วแดง ไฟเบอร์ในผัก และผลไม้ต่าง ๆ
ดังนั้น การเสริมพรีไบโอติกส์ให้กับร่างกาย ก็คือการกระตุ้นการทำงานให้จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ทำงานได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
เมื่อจุลินทรีย์ดีทำงานได้ดี ก็จะกำจัดจุลินทรีย์ก่อโรคได้ดี ร่างกายก็จะเกิดสุขภาวะที่ดี โดยการทำงานของพรีไบโอติกส์ ในกลไกการเป็นยาระบายของ Lactulose ก็เกิดจากการที่ Lactulose ถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลําไส้ใหญ่ได้เกิดเป็นกรดอินทรีย์ซึ่งจะดูดน้ำเข้ามาในอุจจาระ ช่วยให้อุจจาระมีลักษณะอ่อนนุ่มและยังสามารถกระตุ้นให้ลําไส้ใหญ่มีการเคลื่อนไหวดีขึ้น
ดังนั้น การเสริม Prebiotics (พรีไบโอติกส์) ให้กับร่างกาย นอกจากจะช่วยในเรื่องระบบขับถ่าย ทำให้ถ่ายง่ายขึ้นแล้ว ยังช่วยในการปรับสมดุลการย่อยอาหารให้มีการทำงานดีขึ้น สร้างค่า pH ให้ลำไส้เป็นกรด เพื่อไม่ให้แบคทีเรียก่อเกิดโรคเข้ามาเจริญเติบโตในร่างกาย ช่วยลดอาการลำไส้แปรปรวน บรรเทาอาการท้องผูกและท้องเสีย ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายเติมจุลินทรีย์ชนิดดีเข้าสู่ร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
ยาแลคตูโลส (Lactulose) เหมาะกับใครบ้าง
ยาแลคตูโลส ช่วยลดอาการท้องผูกในคุณแม่ตั้งครรภ์
อาการท้องผูกกับการตั้งครรภ์นั้นเป็นปัญหาที่คุณแม่เกินกว่าครึ่งหนึ่งต้องพบเจอ สาเหตุของการ
ท้องผูก มักเกิดจากการที่ฮอร์โมนต่าง ๆ เพิ่มขึ้นส่งผลให้การทำงานของลำไส้ลดน้อยลง ระบบการย่อยอาหารก็ช้าลง การที่มดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นอาจจะไปเบียดลำไส้ ทำให้ลำไส้เคลื่อนตัวช้า อุจจาระสะสมอยู่นานและแข็งตัว รวมทั้งการที่คุณแม่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่ จะดื่มน้ำได้น้อยกว่าปกติ ไม่สามารถออกกำลังกายได้อย่างที่เคย จึงทำให้มีอาการท้องผูก
การใช้ยาระบายเพื่อลดปัญหาท้องผูกในกลุ่มคุณแม่ตั้งครรภ์ เป็นเรื่องที่มีการพูดคุยกันอย่างมาก เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วเราจะกังวลว่าการทานยาระบายจะเป็นอันตรายต่อเด็กทารกในครรภ์หรือเปล่า ซึ่ง Lactulose ยาระบายแก้ท้องผูกชนิดน้ำ สามารถใช้ได้กับกลุ่มผู้ตั้งครรภ์ คุณแม่ให้นมบุตร เพราะมีความปลอดภัยในการใช้สูง เนื่องจากไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด
ยาแลคตูโลส ช่วยลดอาการท้องผูกในกลุ่มเด็ก เด็กวัยหัดเดิน
ปัญหาท้องผูกในเด็ก สร้างความกังวลใจให้กับคุณพ่อคุณแม่อย่างมาก เพราะจะทำให้สุขภาพของเด็กแย่ลง และขัดขวางพัฒนาการต่าง ๆ
อาการท้องผูกในเด็กพบได้บ่อย ๆ โดยมีทั้งภาวะท้องผูกเฉียบพลัน (Recent onset constipation) คือ มีอาการท้องผูกมา ไม่เกิน 8 สัปดาห์ และแบบเรื้อรัง คือ มีอาการตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป โดยอาการที่บ่งชี้ว่าเด็ก ๆ มีอาการท้องผูกมักเป็นอาการปวดช่องท้อง
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ ต้องเจอกับปัญหาท้องผูก มักมาจากการดื่มของเหลวน้อยเกินไป การมีกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง โดยเฉพาะเมื่อเด็ก ๆ ป่วย ไม่สบายและเคลื่อนไหวร่างกายไม่เหมือนเมื่อก่อน มาจากการกินอาหารน้อยลง หรือกินอาหารที่มีใยอาหารน้อยไป และเด็ก ๆ อาจจะอั้นอุจจาระบ่อย ๆ ซึ่งการอั้นอุจจาระที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นสาเหตุทำให้น้ำจากอุจจาระถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลให้อุจจาระแข็งและแห้ง และภาวะท้องผูกเรื้อรังที่เกิดกับเด็ก ๆ นั้น มักมีภาวะอุจจาระอัดแน่นในลำไส้ การรักษาจึงต้องใช้วิธีในการเอาอุจจาระที่อัดแน่นช่วงปลายลำไส้ออกโดยการเลือกใช้ยาระบาย และ Lactulose ยาระบายแก้ท้องผูกชนิดน้ำ ถือเป็นยาระบายในกลุ่มที่ใช้ได้ดีในการช่วยระบายอุจจาระที่อัดแน่นออก มีความปลอดภัยในการใช้สูง ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ทานง่ายเหมาะสำหรับเด็ก
ยาแลคตูโลส ช่วยลดอาการท้องผูกในกลุ่มผู้สูงอายุ
กลุ่มผู้สูงอายุ เป็นอีกกลุ่มที่มักพบปัญหาท้องผูก ท้องผูกเรื้อรัง เนื่องจากการกลไกการทำงานด้านต่าง ๆ ของร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไป
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้สูงวัยมีอาการท้องผูก ได้แก่ การที่ผู้สูงวัยมักรับประทานอาหารน้อยลง บางคนรับประทานอาหารที่มีกากใยไม่ค่อยได้เนื่องจากปัญหาการเคี้ยว ลำไส้บีบตัวน้อยลง ดื่มน้ำและออกกำลังกายน้อยลง และผู้สูงอายุมักจะมีโรคแทรกซ้อน ที่ทำให้มีโอกาสท้องผูกได้ง่าย เช่น เบาหวาน พาร์กินสัน ไทรอยด์
การรักษาอาการท้องผูกโดยใช้ยาระบายในกลุ่มผู้สูงวัย จึงต้องดูแลไม่ให้กระทบกับโรคประจำตัวต่าง ๆ และสุขภาพโดยรวมของผู้สูงอายุ ทั้งนี้ การใช้ Lactulose ยาระบายแก้ท้องผูกชนิดน้ำ สามารถใช้ได้กับกลุ่มผู้สูงอายุ เพราะมีความปลอดภัยในการใช้สูง ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด มีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติกส์ซึ่งถูกย่อยโดยแบคทีเรียในลําไส้ใหญ่เกิดเป็นกรดอินทรีย์ ซึ่งจะดูดน้ำเข้ามาในอุจจาระช่วยให้มีลักษณะอ่อนนุ่ม และยังสามารถกระตุ้นให้ลําไส้ใหญ่มีการเคลื่อนไหวดีขึ้น
สรรพคุณ และการออกฤทธิ์ของยาแลคตูโลส (Lactulose)
เริ่มเห็นผลหลังรับประทานยา 1-2 วัน จากหลักฐานทางวิชาการ พบว่า Lactulose ช่วยเพิ่มความถี่ของการถ่ายอุจจาระ ทำให้ลักษณะอุจจาระอ่อนนุ่มขึ้น และลดภาวะอุจจาระอัดแน่นได้ดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ยาแลคตูโลส (Lactulose) กินตอนไหน กินอย่างไร
ยาระบาย Lactulose 667 g/l เป็นยาน้ำที่มีรสชาติหวาน ทานง่าย ขนาดยาที่แนะนำในผู้มีภาวะท้องผูก ดังนี้
ผู้ใหญ่: 1-2 ช้อนโต๊ะต่อวัน และอาจเพิ่มปริมาณได้ถึง 4 ช้อนโต๊ะต่อวันถ้าจำเป็น
เด็ก: 1-3 ช้อนชาต่อวัน หรือตามแพทย์สั่ง
วิธีรับประทาน อาจผสมกับน้ำผลไม้ น้ำหรือนมก็ได้ ทั้งนี้ สตรีมีครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว ควรใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร และห้ามใช้เป็นยาลดความอ้วนหรือยาลดน้ำหนัก
ยาแลคตูโลส (Lactulose) อันตราย หรือมีผลข้างเคียงมั้ย
Lactulose เป็นยาระบายในกลุ่ม ยาระบายเพื่อเพิ่มน้ำในลำไส้ (Osmotic laxatives) ซึ่งยาในกลุ่มนี้ออกฤทธิ์ดึงน้ำไว้ในช่องลำไส้ใหญ่โดยวิธีออสโมซิส (Osmosis) ช่วยให้อุจจาระนุ่มและผ่านสำไส้ใหญ่ได้ดีขึ้น ยาระบายในกลุ่มนี้มีความปลอดภัยสูง ไม่ดูดซึมเข้ากระแสเลือด สามารถใช้ได้ทั้งในกลุ่มบุคคลทั่วไป เด็ก ผู้สูงอายุ และคุณแม่ตั้งครรภ์ ทั้งนี้ในส่วนของผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์จากยานั้น เนื่องจาก Lactulose จะถูกย่อยโดยแบคทีเรียและทำให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ อาจพบอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และปวดเกร็งช่องท้องได้บ้าง
ข้อคิดทิ้งท้าย
ภาวะอาการท้องผูกเรื้อรัง เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญซึ่งหากไม่ดูแลรักษา อาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกายด้านอื่น ๆ
แนวทางในการรักษาอาการท้องผูกที่ดีที่สุดคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสร้างสมดุลของระบบขับถ่าย อย่างไรก็ตาม หากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่เพียงพอ ก็ควรเลือกใช้ยาระบายที่มีความปลอดภัยสูง ให้ผลลัพธ์ที่ดีและมีความเสี่ยงต่ำ เช่น ยาระบายในกลุ่มเพิ่มปริมาณอุจจาระ การเสริมไฟเบอร์ หรือการใช้ยา Lactulose ร่วมกับการปรับสมดุลการขับถ่ายให้เป็นปกติ
หากพบว่าปัญหาท้องผูกเรื้อรังยังมีอาการที่รุนแรง อาทิ น้ำหนักลดมากโดยไม่มีสาเหตุ พบเลือดในอุจจาระ หรือถ่ายเป็นเลือด ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาถึงแนวทางการรักษาโดยละเอียด
สุขภาพดีเริ่มต้นที่ทางเดินอาหารนะคะ
Berlin GI Life