ท้องผูกไม่ใช่เรื่องปกติ แต่เป็นปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในปัจจุบันโดยพบประมาณร้อยละ 15 ของจำนวนประชากรโลก ซึ่งปัญหาท้องผูกสามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย โดยเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายอีกด้วย
ปัญหาท้องผูกหากปล่อยให้เกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาวนานจนเรื้อรังอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้ บทความนี้ Berlin GI Life มีข้อมูลและคำแนะนำ 6 ข้อที่คุณควรเลี่ยง ถ้าไม่อยากเสี่ยงท้องผูกมาฝากกันค่ะ

ท้องผูก และอาการที่เป็นสัญญาณเตือน
ท้องผูกเป็นภาวะที่เกิดจากการขับถ่ายผิดปกติ ขับถ่ายยากลำบาก อาจจะใช้เวลาขับถ่ายที่นานขึ้นกว่าเดิม โดยมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน การกินอาหาร การนั่งทำงานเป็นเวลานาน ๆ จนเกิดการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ความเครียดสะสม และโรคประจำตัว เป็นต้น
สำหรับอาการที่เป็นสัญญาณเตือนเมื่อคุณมีภาวะท้องผูก โดยแต่ละคนจะแสดงอาการแตกต่างกันออกไปดังนี้
- ความถี่ในการขับถ่ายน้อยลง โดยมีการขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์
- อุจจาระมีลักษณะแข็ง เวลาขับถ่ายจะต้องใช้แรงเบ่งมากกว่าปกติ จึงทำให้เจ็บปวดเวลาถ่ายอุจจาระ
- เมื่อเกิดการขับถ่ายที่ลำบาก ทำให้อุจจาระได้น้อยลงมีผลให้ขับถ่ายไม่สุด จนทำให้ไม่สบายตัว
- เมื่อขับถ่ายไม่หมดทำให้เกิดอาการแน่นท้อง จุกเสียด ปวดหลัง และปวดเกร็งบริเวณหน้าท้อง
- ใช้เวลาขับถ่ายอุจจาระนานกว่าปกติ ส่งผลเสียต่อการดำรงชีวิต
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เป็นท้องผูกระยะเวลานานติดต่อกัน 3 เดือนขึ้นไป จากท้องผูกธรรมดาอาจพัฒนากลายเป็นท้องผูกเรื้อรังจนเกิดโรคแทรกซ้อนได้ ซึ่งถ้าไม่อยากให้เกิดภาวะท้องผูกเรื้อรังจะต้องหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากปัจจัยเหล่านี้
6 ข้อควรเลี่ยง ถ้าไม่อยากเสี่ยงท้องผูก
ทานไฟเบอร์น้อยเกินไป
ไฟเบอร์ หรืออาหารที่มีกากใย สามารถพบได้ทั่วไปในอาหารจำพวกธัญพืชที่ไม่ขัดสี ถั่ว ผัก และผลไม้ต่าง ๆ ค่ะ
ไฟเบอร์สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ไฟเบอร์ที่ละลายน้ำ และไฟเบอร์ที่ไม่ละลายน้ำ สำหรับผู้ที่มีภาวะท้องผูก การเลือกรับประทานไฟเบอร์ให้เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก คำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขให้คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปควรรับประทานไฟเบอร์ให้ได้อย่างน้อย 25 กรัมต่อวัน โดยเฉพาะไฟเบอร์ที่ละลายน้ำมีข้อมูลการศึกษาช่วยเพิ่มความถี่ในการขับถ่ายอุจจาระต่อสัปดาห์ รวมถึงการเบ่งถ่ายได้ดีขึ้นและอุจจาระนุ่มขึ้นด้วย
ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์มากเกินไป
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ จากงานวิจัยพบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 15 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปจะทำให้ลำไส้บีบตัวช้าลง แต่จะไปกระตุ้นให้เกิดการขับปัสสาวะ ทำให้ร่างกายเกิดการขับน้ำมากขึ้น และเมื่อน้ำในร่างกายไม่เพียงพอทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับอุจจาระแข็ง เกิดปัญหาท้องผูกตามมานั่นเอง นอกจากแอลกอฮอล์ทำให้เกิดอาการท้องผูกแล้วยังมีผลเสียโดยตรงกับผู้ป่วยที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวน (IBS) อีกด้วย
ภาวะความเครียดสะสม
ความเครียดจากการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ส่งผลโดยตรงทำให้เกิดอาการท้องผูก นอกจากนี้ความเครียดจากการวิตกกังวลด้านสุขภาพจิต และภาวะซึมเศร้าก็ส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรจัดการความเครียดของตัวเอง ให้เครียดน้อยลง หยุดคิด หยุดพักสมอง ให้ร่างกายได้พักผ่อนมาก ๆ และทำจิตใจให้สงบ ไม่ฟุ้งซ่าน แค่นี้ก็จะสามารถห่างไกลภาวะท้องผูกจากความเครียดได้ค่ะ
การใช้ยาระบายมากเกินไป
ยาถ่าย หรือยาระบาย มีสรรพคุณกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่เกิดการเคลื่อนไหวมากขึ้น ทำให้อุจจาระได้ง่าย อุจจาระนุ่ม และไม่ตกค้างในลำไส้
ผู้ที่มีภาวะท้องผูกจะพึ่งยาระบายเพื่อเป็นตัวช่วยในการขับถ่าย แต่ในการกลับกันหากใช้ยาระบายที่มากจนเกินไปทำให้ภาวะท้องผูกแย่ลงได้ และอาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ โรคลำไส้แปรปรวน และลำไส้อุดตันได้ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาระบายทุกครั้งนะคะ
ขาดการออกกำลังกาย
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือออกกำลังกายอย่างน้อย 3-5 วันต่อสัปดาห์จะช่วยให้อาการท้องผูกดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย ถ้าคุณไม่อยากท้องผูก ก็ควรออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมเพื่อให้ร่างกายเกิดการเคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอนะคะ
ขาดการปรึกษาแพทย์
ท้องผูกเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ความผิดปกติของลำไส้ หรือเกิดจาการใช้ยารักษาโรคอื่น ๆ ซึ่งเมื่อมีอาการท้องผูกหากได้เข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการ และวินิจฉัยได้อย่างถูกต้อง ทำให้รักษาอาการท้องผูกได้หายทันท่วงที พร้อมทั้งแพทย์จะให้คำแนะนำในการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อให้ลดความเสี่ยงจากอาการท้องผูกได้
สรุป
ทั้งหมดนี้คือข้อมูล พร้อมคำแนะนำดี ๆ ที่ Berlin GI Life นำมาฝากสำหรับผู้ที่มีไม่อยากมีปัญหาท้องผูก ซึ่งถ้าหากรู้สาเหตุ ปรับพฤติกรรม และลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ก็จะสามารถลดความเสี่ยงจากโรคอื่น ๆ ที่จะตามมาได้อีกด้วยค่ะ
สุขภาพดีเริ่มต้นที่ทางเดินอาหารนะคะ
Berlin GI Life
ขอขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล